• 14 May 2021 at 22:43
  • 217
  • 0

บ้านปูเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 น่าพอใจ
เสริมแกร่งด้วยหลัก Antifragile และ
ต่อยอดความเป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ รายงานผลการดำเนินธุรกิจไตรมาสแรกของ 2564 มีกำไรสุทธิ 51 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,543 ล้านบาท) โดยมีรายได้จากการขายรวม 736 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,269 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 102 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,086 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ16 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 274 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,290 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 110 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,328 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 67 จากผลประกอบการที่ดีขึ้นของธุรกิจถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้น รวมถึงการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินสกุลบาทต่อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ สะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพอร์ตธุรกิจตามแผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ ปี 2564 – 2568 การนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล หรือ Digital transformation เข้ามาผสมผสานเพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม ทำให้ 3 กลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสร้างผลประกอบการที่ดีในปี 2564 แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกและวิกฤตโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากหลักการ Antifragile บ้านปูได้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจใน 10 ประเทศ ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักเพื่อกระจายความเสี่ยง ในขณะเดียวกันเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (International Versatile Energy Provider) โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ สำหรับปี 2564 – 2568 ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ได้เร่งขยายพอร์ตพลังงานสะอาดและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน โดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือการลงทุนในโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในญี่ปุ่นซึ่งใช้เทคโนโลยีผสมผสานในการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า (Integrated Gasification Combined Cycle: IGCC) เป็นครั้งแรก การขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและจุดบริการยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ เรายังปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สามารถรับมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับวิถีใหม่อย่างรวดเร็วมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของพนักงานใน 10 ประเทศ การบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) และการให้ความช่วยเหลือชุมชนในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19”

บ้านปูยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลและชุมชนในการรับมือและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศ อาทิ ในไทย มีการจัดตั้งกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย Covid-19 เพื่อกระจายความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ที่เน้นให้การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสาธารณสุขครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยอย่างเร่งด่วน โดยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เราได้ใช้งบประมาณในกองทุนไปแล้วประมาณ 140 ล้านบาท ในจีน โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งสามารถจ่ายไฟฟ้าและความร้อนเพื่อรองรับการใช้งานในภารกิจป้องกันการระบาดของโควิด-19 และการบริโภคในครัวเรือนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในบริษัทย่อยหลายบริษัทในจีนก็ได้ให้การสนับสนุนชุมชนและภาครัฐเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนบริษัทย่อยของบ้านปูในอินโดนีเซียก็สามารถรักษาระดับกำลังการผลิต และยังจัดหาเครื่องใช้ยังชีพและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข ขณะที่การดำเนินงานของเหมืองในออสเตรเลีย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีการปรับตัวและเรียนรู้จากประสบการณ์ทำให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2564 ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในสหรัฐอเมริกา แม้ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนแต่ก็สามารถรักษากำลังการผลิตและยอดขายที่แข็งแกร่งซึ่งหนุนด้วยความต้องการที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งส่งผลบวกต่อราคาก๊าซธรรมชาติ ด้านธุรกิจเหมือง ใน 3 ประเทศอันได้แก่ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และ จีน รายงานผลประกอบการที่ดี ซึ่งได้รับอานิสงค์จากราคาตลาดถ่านหินโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการหรืออุปสงค์ในการใช้ถ่านหินที่สูงขึ้นในขณะที่มีปริมาณการผลิตโดยรวมออกสู่ตลาดลดลง

กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนมีการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ส่วนโรงไฟฟ้าเอชพีซีและโรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังคงเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากรายงานดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ร้อยละ 83 และ 85 ตามลำดับ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนและญี่ปุ่น ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ และมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า 2 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ Yamagata และ Yabuki ในขณะที่โครงการพลังงานลม Vinh Chau ระยะที่ 1 ในเวียดนามได้ก่อสร้างโดยสร้างฐานของกังหันลมแล้วเสร็จ และมีความคืบหน้าในการก่อสร้างที่ร้อยละ 57

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้บ้านปู เน็กซ์ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ และขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้แก่โครงการ ซัมเมอร์ ลาซาล (Summer Laselle) ซึ่งเป็นโครงการสำนักงานให้เช่ารูปแบบใหม่ในคอนเซปต์ออฟฟิศแคมปัสแห่งแรกในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีการขยายการให้บริการของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมีเพิ่มเป็นจำนวน 100 คัน ในขณะที่ธุรกิจซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในญี่ปุ่นได้มีการทำสัญญาเพิ่มเติมจากลูกค้ารายใหม่คือ สถาบัน Inter-University Research Organization ในกรุงโตเกียว จำนวน 10 กิกะวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 1 ปี

“ภายใต้ความท้าทายต่าง ๆ ที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับทุกการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บ้านปูยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance) ซึ่งสามารถช่วยให้บริษัทฯ ฝ่าวิกฤตและปัญหาต่าง ๆ ไปได้ และเรายังคงมุ่งมั่นเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน (Banpu Transformation) ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างอนาคตของพลังงานที่ยั่งยืนให้กับสังคมโลก” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย

*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ USD 1: THB 30.257