• 14 May 2021 at 16:49
  • 278
  • 0

RATCH กำไรไตรมาส 1 กว่า 2 พันล้านบาท

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 8,701.32 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า 8,569.09 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนรายได้ของกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 85% และกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 15% และรายได้จากระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอื่น ๆ 132.23 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,087.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.4% จากงวดเดียวกันของปี 2563 ปัจจัยหลักมาจากการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นของบริษัทย่อยในออสเตรเลีย ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการยานดิน และโครงการคอลเล็กเตอร์ ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า อีกทั้งส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Thang Long ในประเทศเวียดนาม และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป. ลาว เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 มองว่าในไตรมาส 1 ทำได้ค่อนข้างดี แม้มีการปิดซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าหลายแห่งตามแผนงานที่กำหนดไว้ อาทิ โรงไฟฟ้า RG เป็นเวลา 47 วัน โรงไฟฟ้าหงสา ยูนิต 2 เป็นเวลา 28 วัน และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอร์เรชั่น เป็นเวลา 14 วัน ในขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2563 ไม่มีการหยุดซ่อมบำรุง ซึ่งบริษัทได้บริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่เหลือให้พร้อมจ่ายไฟอย่างต่อเนื่อง และบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ก็คาดว่าไตรมาส 2 ผลการดำเนินงานน่าจะเป็นไปตามที่บริษัทฯ วางเป้าหมายไว้

สำหรับการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปีนี้ มุ่งเน้นการบริหารจัดการใน 3 ประเด็น คือ การบริหารความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนแล้ว เดินหน้าโครงการเป้าหมายที่มีอยู่ในมือเพื่อร่วมทุนให้สำเร็จ และการบริหารวางแผนทางการเงินให้รัดกุมเพื่อควบคุมต้นทุนและรักษาฐานะทางการเงินให้มั่นคงสามารถรองรับแผนการขยายการลงทุนของบริษัทฯ ได้

บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้ได้ไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ตามเป้าหมาย จากปี 2563 มีกำลังการผลิตรวม 8,174 เมกะวัตต์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 8,874 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 7,215 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า 4 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 537.04 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจำหน่าย ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 70% โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ ถือหุ้นทั้งหมด โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว ในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 296.23 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 49% และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Ecowin ในเวียดนาม กำลังการผลิต 29.7 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 51%

ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงทุนในโครงการประเภทเชื้อเพลิงหลักในต่างประเทศ กำลังผลิตรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ และโครงการประเภทพลังงานทดแทนในต่างประเทศ อีกไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าในไตรมาส 2 นี้ จะสามารถสรุปโครงการลงทุนได้หลายโครงการ

ส่วนการลงทุนในประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 18 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้

นอกจากนี้ ยังแสวงหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต เพื่อเสริมสร้างฐานธุรกิจของบริษัทฯ ให้มั่นคงยิ่งขึ้น อาทิ ระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก)

ส่วนกรณีที่เข้าไปซื้อหุ้น BAFS จำนวน 15.53% ในขณะที่ BAFS ยังมีผลประกอบการขาดทุน หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เพราะได้ประเมินความเสี่ยงไว้หมดแล้ว และคาดว่าผลการดำเนินงานของ BAFS จะปรับตัวดีขึ้นภายในปี 65 และ BAFS ยังได้ลงทุนในธุรกิจพลังงาน ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น