อุทธรณ์ 12 โครงการมาบตาพุดลงทุนต่อจันทร์หน้า

อุทธรณ์ 12 โครงการมาบตาพุดลงทุนต่อจันทร์หน้า

อัยการสูงสุด ยื่นอุทธรณ์ศาลขออนุญาต 12 โครงการมาบตาพุดลงทุนต่อในวันจันทร์หน้า แต่ยังไม่ประกอบกิจการ ด้าน อานันท์ มั่นใจตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาลได้ 60 วัน

นายบัญญัติ  วิสุทธิมรรค  อัยการอาวุโส  สำนักงานอัยการสูงสุด  บอกภายหลังตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจำนวน 12 โครงการ ยื่นเอกสารเพื่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดทำสำนวนเพื่อยื่นต่อศาลปกครองกลาง ให้อนุมัติเดินหน้าก่อสร้างโครงการและทดสอบเครื่องจักรได้ ว่า  หลังจากนี้จะนำข้อมูลไปตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถยื่นต่อศาลได้ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ หรืออย่างช้า ในวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ 

โดยในส่วนตัวไม่หนักใจกับการดำเนินการยื่นต่อศาลในครั้งนี้ เนื่องจากเชื่อว่าโครงการทั้งหมด 76 โครงการเป็นโครงการที่ไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่กลับเป็นโครงการที่ช่วยลดมลพิษ และยังเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่เคยยื่นต่อศาลเลย  ทั้งนี้หากไม่ได้มีการก่อสร้างโครงการอาจทำให้เกิดควมเสียหายเฉลี่ยแต่ละโครงการมีมูลค่าประมาณ 500 -2,000 ล้านบาท


ส่วนคดีหลัก ขณะนี้ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อศาลไปแล้ว โดย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฝ่ายยื่นฟ้องยื่นคำคัดค้าน  และจะต้องมีการให้ข้อมูลอีกครั้ง ก่อนที่จะมีคำพิพากษาออกมา ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ปี

ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า การสำนวนยื่นคำร้องขอผ่อนผันคำสั่งศาลปกครอง เพื่อจะขอเดินหน้าการลงทุนเฉพาะการก่อสร้าง และการทดสอบเครื่องจักร ไม่รวมการประกอบกิจการ  ส่วนการดำเนินงานศูนย์บริการและคณะทำงานกลางเพื่อให้คำปรึกษาภาคเอกชนในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ประชุมแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง และได้ให้คำปรึกษาแล้ว 49 โครงการ จากทั้งหมด 64 โครงการ โดยมี 4 โครงการขอยกเลิกโครงการ และมีโครงการที่ได้รับยกเว้นชะลอโครงการแล้ว 1 โครงการ


นอกจากนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ หรือ EIA- HIA เพื่อให้มีความชัดเจนในการปฎิบัติ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและบุคลากร เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นชอบขององค์การอิสระ บอกว่า สิ่งที่ตกค้างการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือ การจัดตั้งองค์การอิสระ ซึ่งทำตามขั้นตอนทางรัฐสภา อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือผ่านการประชุมรัฐสภา 2 สมัย จะทำให้การลงทุนภาพรวมของประเทศได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาล โดยจะเป็นทางคณะกรรมการ 4 ฝ่ายชุดเดิมเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระเฉพาะกาล ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

โดยปัญหามาบตาพุดเป็นปัญหาต่อเนื่องและสะสมมายาวนาน ทั้งที่มีการพูดคุยกันในหลายรัฐบาลทุกยุค ซึ่งมีวิธีทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้การแก้ปัญหาไม่เดินหน้า รวมทั้งหลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี50 นั้น ที่ให้มีการออกกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรค 2 ก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการ


ทั้งนี้ในส่วนของ 12 โครงการ ที่ได้ขอก่อสร้างและทดสอบเครื่องจักร แบ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 9 โครงการ ได้แก่ บริษัท ไทยโพลิเอทิลีน จำกัด  บริษัท สยามเลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด จำนวน 2 โครงการ บริษัทสยามโพลิเอทิลีน จำกัด บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด   2 โครงการ  บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด  บริษัท มาบตาพุด แทงก์ เทอรืมินัล จำกัด  และบริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด และเป็นโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างอีก 4 โครงการ คือ  บริษัท เอ็มทีพี เอชพี เวจี ประเทศไทย  จำกัด บมจ.วีนิไทย และ บริษัท บี อาร์ พี สตีล จำกัด