รมว.อุตฯ คนใหม่ไฟแรงเดินหน้า 4 ภาระกิจ

รมว.อุตฯ คนใหม่ไฟแรงเดินหน้า 4 ภาระกิจ

รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่เข้าทำงานในกระทรวงวันแรก เดินหน้า 4 ภาระกิจ พร้อมมั่นใจยอดขอบีโอไอปีนี้ ยังเป็นไปตามเป้า 5 แสนล้านบาท

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ถือฤกษ์เดินทางเข้ากระทรวงอุตสาหกรรม เวลา 8.00 น. เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง โดยภาระกิจเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการมี 4 เรื่องหลัก คือ //การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง  //การเร่งแก้ปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้

//การเร่งส่งเสริมผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ให้มีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม //และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นระบบยั่งยืน โดยอยู่ร่วมกับสังคมได้

นายชัยวุฒิ  บอกด้วยว่า สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ มั่นใจว่า จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 500,000 ล้านบาท แม้การลงทุนจะชะงักไปบ้างในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาจากผลกระทบทางการเมือง โดยขณะนี้ มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนเกือบ 200,000 ล้านบาทแล้ว

ทั้งนี้ในวันนี้เวลา 14.00 น. จะประชุมกับหน่วยงานในสังกัดทั้งหมด โดยเน้นหารือโครงการลงทุนในมาบตาพุด ซึ่งะเชิญนายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมมาให้ข้อมูลด้วย

ด้านนายวิกรม วัชรคุปต์ ผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย บอกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ โครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงในประเทศไทย  ขณะนี้ผลการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะใช้รองรับโครงการลงทุน คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จากนั้น จะเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

ขณะที่นางมณฑา ประนุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.บอกว่า กรณี สารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ รั่วไหลออกจากถังเก็บจากบริษัท อทิตยา เบอร์ล่า จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ระยองว่า ขณะนี้ กนอ. ได้สั่งระงับการเดินสายการผลิตทั้งโรงงานดังกล่าวแล้ว และสั่งให้มีการตรวจสอบสาเหตุ พร้อมให้ผู้บริหารส่งแผนการแก้ปัญหาให้ กนอ. พิจารณา โดย กนอ. จะให้บุคคลที่ 3 มาร่วมตรวจสอบ เช่น วิศวกรรมสถาน และบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเรียกผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด มาประชุมตอกย้ำมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงงาน โดยยอมรับว่า รู้สึกหนักใจกับปัญหามาตรฐานความปลอดภัยโรงงานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะที่ผ่านมา กนอ.มีการประชุมติดตามการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมมาแล้วหลายครั้ง จึงต้องการให้ผู้ประกอบการเตรียมรับเหตุการณ์เสมอ เพราะทุกอุตสาหกรรมมีความเสี่ยง จะดำเนินการแบบเดิมไม่ได้