ก.พลังงานเสนอ กพช.ตรึงราคาพลังงานกว่า 20,000 ล้านบาท ด้านผู้เชี่ยวชาญค้านลดราคาน้ำมัน-ตรึงแอลพีจี

Update//ก.พลังงานเสนอ กพช.ตรึงราคาพลังงานกว่า 20,000 ล้านบาท ด้านผู้เชี่ยวชาญค้านลดราคาน้ำมัน-ตรึงแอลพีจี

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 28 มิถุนายน 2553 นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอให้มีการตรึงราคาพลังงาน ตั้งแต่การตรึงราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี ตรึงราคาก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (เอ็นจีวี) และการตรึงค่าไฟฟ้าเอฟที ไปอีก 6 เดือน หลังมาตรการการตรึงราคาสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2553 นี้ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554

โดยจะต้องใช้เงินในการตรึงราคาพลังงานทั้งหมดรวม 21,620 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องชดเชยการนำเข้าแอลพีจี ประมาณ 2,204 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 13,224 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯ จ่ายชดเชยราคาเอ็นจีวี ในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าจะเป็นภาระต่อกองทุนน้ำมันฯ ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800-2,400 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะตรึงค่าเอฟทีถึงสิ้นปี 2553 กฟผ.จะรับภาระแทนประชาชนประมาณ 5,996 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กพช.จะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะมีมติตามที่กระทรวงพลังงานเห็นชอบหรือไม่ โดยกระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่าที่ต้องตรึงราคาพลังงานต่อไป เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง และมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย เพื่อให้สนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลผลกระทบทางด้านพลังงาน ประกอบกับประมาณการรายรับ รายจ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2553 ถึง กุมภาพันธ์ 2554 มีรายรับสุทธิประมาณ 109 ล้านบาท ซึ่งยังสามารถรับภาระการชดเชยการนำเข้าแอลพีจี และชดเชยราคาเอ็นจีวี ต่อไปได้ รวมทั้งภาระค่าเอฟทีของ กฟผ.ได้ลดลงจากที่ได้ประมาณการไว้ จึงเห็นควรให้ขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อไปอีก 6 เดือน

ผู้เชี่ยวชาญค้านลดราคาน้ำมัน-ตรึงแอลพีจี

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ค้านแนวคิดลดราคาน้ำมันลิตรละ 2 บาท และตรึงราคาแอลพีจีอีก 6 เดือน ระบุ เป็นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เหตุราคาน้ำมันขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ชี้จะเป็นการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน บอกว่า แนวคิดของนายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจะที่ปรับลดราคาน้ำมันลงลิตรละ 2 บาท นั้น สาารถดำเนินการได้ ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง หลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท

หรือ ใช้วิธีกรลดการเงินกองทุนน้ำมัน แต่คงจะสามารถทำได้เฉพาะน้ำมันเบนซิน เพราะในส่วนน้ำมันดีเซลปัจจุบันจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพียงลิตรละ 65 สตางค์เท่านั้น ซึ่งหากจะลดราคาน้ำมันดีเซลลงก็จะต้องนำเงินจากส่วนน้ำมันเบนซินมาใช้ ซึ่งก็ถือเป็นวิธีการที่ไม่เป็นธรรม

ทำให้โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะถือเป็นการบิดเบือนโครงสร้างราคาน้ำมัน รวมทั้งปัจจุบันราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีนี้ผ่านมา โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลยังอยู่เพียงลิตรละ 28 บาทเท่านั้น และหากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐไม่เหลือเครื่องมือในการดูแลราคาน้ำมันอีก และถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล และแนวคิดดังกล่าวตนเองมองว่าเป็นการหาเสียงเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในอนาคต

นายมนูญ บอกด้วยว่า สำหรับกรณีที่กระทรวงพลังงานจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจีที่จะครบกำหนดในเดือนสิงหาคมปีนี้ออกไปอีก 6 เดือนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านั้น โดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลควรปล่อยให้ราคาสะท้อนกับความเป็นจริงโดยเร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมามีการตรึงราคาแอลพีจีเป็นเวลานานทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าแอลพีจีตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านจากเดิมที่เป็นผู้ส่งออก

เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทำให้ผู้ใช้ลดและโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้แทนน้ำมันเตา ซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องนำเงินมาอุดหนุนถึงปีละกว่า 19,000 ล้านบาท  


นอกจากนี้จะมีการเสนอให้มีการลดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลง เหลือ 6.50 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 8 บาทต่อหน่วย โดยไม่มีการเพิ่มระยะเวลาการให้ส่วนจะคงไว้ที่ 10 ปีเช่นเดิม เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับแอดเดอร์สูงกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น และมีต้นทุนการผลิตที่สูง มีผลทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีผู้เสนอโครงการขายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากถึง 2,900 เมกะวัตต์ จากที่มีแผนรับซื้อเพียง 500 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องมีการทบทวนใหม่เพื่อความเหมาะสม โดยจะมีการใช้แอดเดอร์ใหม่สำหรับโครงการที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่โครงการที่มีสัญญาแล้วจะได้รับแอดเดอร์ในอัตราเดิม

และจะมีการยกเลิกการใช้แอดเดอร์มาเป็น Feed-in-tariff แทน ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้ารวมต่อหน่วยที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนวัยนได้รับจากการไฟฟ้า โดยฝ่ายนโยบายเป็นผุ้กำหนดอัตรา Fit ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเทคโนโลยีเพื่อจูงใจการลงทุนจากภาคเอกชน โดยจะพิจารณาเป็นรายโครงการ

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวถึง กรณี ที่นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอให้มีการพิจารณาลดราคาน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร ในการประชุม กพช.ด้วย ยังไม่ได้อยู่ในวาระของ กพช.ครั้งนี้ และเห็นว่าหากมีการเสนอให้ลดราคาจริงก็น่าจะใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงลง 2 บาทต่อลิตร โดยไม่ควรใช้กลไกสนับสนุนราคาพลังงานจากกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วย เพราะกองทุนน้ำมันฯ ได้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนในอัตราที่น้อยอยู่แล้ว และมีภาระต้องชดเชยราคาแอลพีจี ซึ่งหากจะต้องมาชดเชยราคาน้ำมันให้ลดลงอีก อาจจะส่งผลให้กองทุนฯ มีผลขาดทุนได้ และกองทุนฯ เองก็ต้องการให้มีเงินในกองทุนไว้ในระดับประมาณไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อไว้ดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉิน