กกร.จี้นายกฯประกาศ 18 กิจการรุนแรง

กกร.จี้นายกฯประกาศ 18 กิจการรุนแรง

กกร. แนะนายกรัฐมนตรี เร่งออกประกาศ 18 กิจการกระทบชุมชนอย่างรุนแรง แก้ปัญหามาบตาพุด หวังฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ชี้ปัญหายืดเยื้อมานานกว่า 8 เดือนแล้ว พร้อมเล็งปรับโครงสร้างค่าแรงเพิ่ม 5-10% ให้แรงงานไร้ฝีมือ


นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. บอกภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย //สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย //ส.อ.ท. //และสมาคมธนาคารไทย  ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 

โดยภาคเอกชนต้องการให้นายกรัฐมนตรี เร่งออกประกาศประเภทกิจการรุนแรง 18 กิจการ ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง พิจารณาเสร็จแล้ว เนื่องจากภาคเอกชนเห็นว่าการแก้ปัญหามาบตาพุดใช้เวลามากกว่า 8 เดือนแล้ว 

ทั้งนี้ในเบื้องต้นคาดว่า ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะประชุมวันที่ 7กรกฎาคมนี้ ซึ่งหากสามารถประกาศหากประเภทกิจการรุนแรง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมออกมาเร็ว เช่น เหมืองแร่ นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถลุงแร่ หลอมโลหะ โรงไฟฟ้า จะช่วยให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เนื่องจากบางโครงการจะสามารถประกอบกิจการได้ภายในปลายปีนี้
   
เล็งปรับโครงสร้างค่าแรงเพิ่ม 5-10% ให้แรงงานไร้ฝีมือ

ด้านนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธาน ส.อ.ท. บอกว่า ที่ประชุมกกร.มีมติตั้งคณะทำงานศึกษาการปรับโครงสร้างค่าแรงในภาคอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงาน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 5-10% จากค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 60-70% ของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด

โดยจะมีการวางแผนพัฒนาแรงงานที่ไม่มีประสบการณ์ หรือ  Unskill Labor  ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวจะศึกษาแต่ละอุตสาหกรรม และจะประมวลข้อมูลแต่ละอุตสาหกรรมให้เสร็จภายใน 3 เดือน

ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่าในการประชุมครม. วันที่นี้ จะหารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดมาตรการให้สถานประกอบการที่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2554 น่าจะได้รับการลดภาษีจากรัฐบาล

โดยเบื้องต้นให้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือ บอร์ดค่าจ้าง จะรวบรวมข้อมูลผลกระทบ เพื่อพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามประเด็นที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงข้อเสนอของฝ่ายผู้ใช้แรงงาน ที่ขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องกับการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการอีกด้วย

นางสาว วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย บอกว่า  ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อนำเข้าหารือกับ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน คาดว่าจะมีการพูดคุยประมาณกลางเดือน กรกฎาคม ซึ่งจากการศึกษาตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำปี 2552 พบว่าลูกจ้างจะต้องได้ค่าจ้างวันละ 360 บาท แต่ปีนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เช่นปัญหาราคาไข่ไก่แพง จึงเห็นว่าตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำอาจต้องขยับมากกว่าวันละ 360 บาทหรือไม่