บอร์ดสวล.เคาะ11กิจการรุนแรง

บอร์ดสวล.เคาะ11กิจการรุนแรง

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม  ประกาศ 11 กิจการรุนแรง ที่ต้องทำ อีไอเอ-เอชไอเอ  ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมนัดหารือเอกชน 25 สิงหาคมนี้ หวังหาทางออกลงทุนมาบตาพุด ก่อนสรุปข้อมูลยื่นศาลปกครอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ออกประกาศกระทรวงว่าด้วยโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 ประเภท ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  หรือ อีไอเอ และ เอชไอเอ)  ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550

โดยหลังจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะไปยกร่างเพื่อออกประกาศกระทรวง จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบแต่คงไม่ทันกับการประชุม วันนี้ (24 ส.ค.) ส่วนโครงการที่ถูกคำสั่งศาลปกครองระงับกิจการชั่วคราว แต่ไม่อยู่ในประเภทกิจการรุนแรง จะเป็นดุลพินิจที่ศาลจะพิจารณา เพราะถือว่าฝ่ายบริหารได้ทำหน้าที่แล้ว เชื่อว่าหลังจากประกาศประเภทกิจการรุนแรงแล้วกระบวนการต่างๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้น

  
ก.อุตฯ นัดหารือเอกชน 25 ส.ค. เตรียมข้อมูลยื่นศาล


ด้านนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า จะนัดหารือกับภาคเอกชนในวันที่ 25 สิงหาคมนี้  เพื่อเตรียมข้อมูลที่จะยื่นศาลปกครองพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ศาลฯ จะเริ่มพิจารณาคดีเพิกถอนใบอนุญาต 76 โครงการมาบตาพุดอีกด้วย

โดยคาดว่าจะมีโครงการรุนแรงทั่วประเทศไม่เกิน 20 โครงการ และเมื่อพิจารณาเฉพาะโครงการที่ถูกศาลปกครองมีคำสั่งระงับ 76 โครงการ คาดว่าจะมีโครงการที่เข้าข่ายกิจการรุนแรงเพียง 2 โครงการ คือ โครงการโรงถลุงเหล็กของบริษัท AISCO RESOURCES จำกัด แต่โครงการดังกล่าวได้แจ้งชะลอการลงทุนแล้ว

และโครงการโรงงานผลิตเอทธิลีนออกไซด์และเอทธิลีนไกลคอล ส่วนขยาย ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ทั้งนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมจะพิจารณายกเลิกประกาศกิจการรุนแรง 8 กิจการ ของกระทรวง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

โรงแยกก๊าซฯปตท.ไม่เข้าข่ายกิจการรุนแรง

ขณะที่นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า โครงการที่อยู่ในประกาศกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรง ในส่วนของพลังงาน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่มีกำลังการผลิตเกิน 3,000 เมกะวัตต์ ที่ต้องทำ เอชไอเอ ก่อน รวมทั้งโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตเกิน 100 เมกะวัตต์

โดยกระทรวงพลังงานต้องปรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เหมาะสม เพราะหากดำเนินการล่าช้า จะส่งผลให้ใน 4-5 ปีข้างหน้าปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำกว่าเป้าหมาย 9% ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะไฟฟ้าดับได้

ส่วนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของ บมจ.ปตท.  ที่ไม่เข้าข่ายกิจการส่งผลกระทบรุนแรง ก็สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และขณะนี้ ปตท.ทำอีไอเอ และเอชไอเอเสร็จแล้ว จึงคาดว่าสามารถผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจีเข้าสู่ตลาดได้ 1 แสนตันต่อเดือนได้

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. บอกว่า เมื่อโรงแยกก๊าซของ ปตท.ดำเนินการได้แล้วช่วยประหยัดการนำเข้าแอลพีจีได้ถึง 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากจะต้องนำเข้าเพียงเดือนละ 4-5 หมื่นตันเท่านั้น

ส่วนนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. บอกว่า  ปตท. พร้อมปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยหากมติที่ประชุมเห็นว่าโครงการในส่วนของ ปตท. ไม่เข้าข่าย ปตท. ก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอดำเนินโครงการในส่วนที่ถูกระงับไว้ต่อไป แต่หากโครงการของ ปตท.  อยู่ในประเภทกิจการรุนแรงก็พร้อมดำเนินการ ให้ถูกกฎหมาย
 
ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. บอกว่า การที่ภาครัฐจะประกาศกิจการรุนแรงบางส่วนออกมาก่อน ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการลงทุนทั้งหมด โดยหลังจากนี้แต่ละบริษัทคงเตรียมข้อมูลเพื่อส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่า โครงการใดไม่เข้าข่ายกิจการรุนแรงต่อไป