ปตท.เตรียมร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในต่างประเทศ
  • 5 มีนาคม 2021 at 06:17
  • 171
  • 0

ปตท.เตรียมร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในต่างประเทศ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปีหน้า จะมีความชัดเจนในเรื่องการร่วมทุนโครงการลงทุนในต่างประเทศ เช่น โครงการเหมืองถ่านหินที่ได้ประกาศลงทุนไปแล้ว รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง ปตท.สนใจขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศไทยมีคความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ของ ปตท. ในขณะนี้เจรจา 2 โครงการ ส่วนจะเป็นโครงการพลังน้ำไชยะบุรี สปป.ลาว หรือไม่นั้น ยังไม่ขอเปิดเผย โดยคาดว่าในไตรมาส 1 จะประกาศได้ อย่างน้อย 1 โครงการ ซึ่ง ปตท.ตั้งเป้าหมายเข้าไปถือหุ้น 20-25%

โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปี (2554-2558) ของ ปตท. วงเงิน 3.27 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในส่วนของการลงทุนต่างประเทศ ที่มีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 46% ของการลงทุนทั้งหมด ซึ่งจะใช้ บริษัท ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้ลงทุนหลัก

ซึ่งนอกจากจะมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีการลงทุนเพื่อที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในเหมืองถ่านหิน และการลงทุนการผลิตแอลเอ็นจีด้วยเรือลอยน้ำ (floating LNG) ซึ่งจะร่วมทุนกับ บริษัท  ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) การขยายการลงทุนปลูกปาล์ม เป็นต้น โดยได้มีเสนอตั้งงบไว้ประมาณ  1 แสนล้านบาท ในการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการ  ซึ่งในด้านที่มาของเงินลงทุนจะมาจาก รายได้ของ ปตท.และเงินกู้ โดยจะยังคงสัดส่วนหนี่ต่อทุนไม่เกิน 1 ต่อ 1 แต่จะกู้หรืออออกพันธบัตรมากน้อยแค่ไหน คงจะต้องพิจารณาร่วมไปกับการคืนหนี้เงินกู้ครบชำระ ใน 5 ปีนี้ด้วย ที่มีวงเงินครบชำระ 1 แสนล้านบาท

สำหรับงบลงทุนของ ปตท.ในปี 2554 จะอยู่ที่ 9.489 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายงานในต่างประเทศและโครงการใหญ่ๆ ในประเทศ คือ โครงการขยายท่อก๊าซธรรมชาติไปเหนือ-อีสาน การลงทุนคลังแอลเอ็นจี โดยปีหน้าทาง ปตท.ยังไม่จำเป็นขอเสนอผู้ถือหุ้นออกพันธบัตรวงเงินรอบใหม่ เพราะวงเงินเดิมที่ขอไว้ยังคงมีเหลือเพียงพอ ซึ่งวงเงินนี้ หากจะพิจารณาออกพันธบัตร ทาง ปตท.จะให้ความสำคัญต่อผู้ถือพันธบัตรของ ปตท.ซึ่งจะออกมาในรูปแบบ Royalty program ที่ปี 2553 ได้ออกมาเป็นครั้งแรก 1 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรในรูปแบบระยะยาวคล้ายกับพันธบัตร 100 ปี ที่ออกมาปีนี้ 4,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการไฟฟ้า เปิดเผยว่า โครงการที่ ปตท.สนใจ คือ โครงการเขื่อนไซยะบุรี ของ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีที การก่อสร้างและชลประทาน บริเวณบ้านปากเนียม ผาแดงและแก่งหลวง ในแขวงไซยะบุรี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2553

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 7-8 ปี โดยกระแสไฟฟ้า 90% จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยผ่านสายส่งเข้ามาใน จ.น่าน และเลย ซึ่งผู้ลงทุนจะได้สิทธิรับสัมปทานการดำเนินการเขื่อนอีกเป็นเวลา 27 ปี มีสิทธิขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี

โดยสัดส่วนการถือหุ้น ช.การช่าง จะถือครึ่งหนึ่งที่เหลือจะเป็นพันธมิตรและรัฐบาลลาว คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในปี 2559