กฟผ.ยืนยัน โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้คุณภาพอากาศดี

กฟผ.ยืนยัน โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้คุณภาพอากาศดี

นายธาตรี  ริ้วเจริญ  ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวเรื่องการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบัน มีการเปรียบเทียบกับภาพที่น่ากลัวในอดีตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  กฟผ. รับว่าในอดีตโรงไฟฟ้าแม่เมาะเคยมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงสั้น ๆ  แต่ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขทางด้านเทคนิค  โดยการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.  ๒๕๔๒   ติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีอยู่ให้เป็นระบบ REAL TIME AIR QUALITY MONITORING และเชื่อมโยงผลการตรวจวัดให้สามารถอ่านค่าได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  โดยกรมควบคุมมลพิษจะสรุปค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่จุดวัดต่าง ๆ ให้ราษฎรรับทราบทุกสัปดาห์ และมีมาตรการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเข้มงวด  ซึ่งตั้งแต่ดำเนินมาตรการแก้ไขจนแล้วเสร็จ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอีก  และยังมีคุณภาพอากาศที่ดี เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศได้ด้วยตนเอง              

จากการดำเนินงานควบคู่มาตรฐานสากลในทุกด้าน ทั้งระบบบริหารคุณภาพ ISO ๙๐๐๑ ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO ๑๔๐๐๑ ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก.๑๘๐๐๑ ระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร Total Quality Management : TQM โดยใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) : TQA  กระทั่งในปีนี้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้รับการรับรองมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม จากสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒  เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

นายธาตรี  ริ้วเจริญ  กล่าวต่อไปว่า “สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในอนาคต กฟผ.ได้ยึดหลักการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมเช่นเดียวกัน  โดยเลือกใช้ถ่านหินประเภทบิทูมินัส   นำเข้าจากต่างประเทศ  ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าลิกไนต์ที่ใช้อยู่ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะในปัจจุบัน  ประกอบกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ และประสบการณ์ของ กฟผ.ในการผลิตไฟฟ้ามายาวนานว่า ๔๒ ปี     จึงสามารถมั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จะไม่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแน่นอน  ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินได้ใช้อย่างแพร่หลายมานานในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย ฯ”

“กฟผ. ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ    และเคารพในสิทธิของประชาชนในการรับฟังข่าวสารอย่างรอบด้าน    และขอวิงวอนประชาชนเปิดใจรับฟังข้อเท็จจริงของ กฟผ. อีกทางหนึ่ง  เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจอนาคตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป”  นายธาตรี  ริ้วเจริญ   กล่าวในที่สุด