ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 4 : ตามรอยนักบุกเบิกปิโตรเลียมของไทย

ตามรอยนักบุกเบิกปิโตรเลียมของไทย

ในวงการสำรวจ ผลิต และขุดเจาะปิโตรเลียมของไทยนับตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงยุคปัจจุบัน ชาวต่างประเทศหรือที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่า”ฝรั่ง”นับได้ว่าเป็นผู้ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ และทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างปิโตรเลียมทั้งด้านวิชาการ เทคโนโลยี รวมไปถึงการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจนเกิดการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูลจากเว็ปไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำให้เราได้รู้ว่าฝรั่งนักสำรวจที่เข้ามามีบทบาทในวงการปิโตรเลียมไทยเป็นคนแรกคือ Wallace Lee ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งถูกว่าจ้างให้เข้ามาสำรวจหาปิโตรเลียมที่แหล่งฝาง จ. เชียงใหม่และที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินในขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง ซึ่งต่อมาก็ได้มีการว่าจ้างช่างเจาะชาวอิตาเลียนเข้ามาทำการเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่แอ่งฝาง ในบริเวณที่เรียกว่า บ่อหลวง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุที่อุปกรณ์การเจาะในสมัยนั้นส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ จึงไม่สามารถเจาะเข้าถึงชั้นที่มีน้ำมันดิบได้

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเจาะสำรวจน้ำดิบจึงเริ่มประสบผลสำเร็จ โดยกรมโลหะกิจ ซึ่งปัจจุบันคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้สั่งซื้อเครื่องเจาะแบบหมุนที่มีขีดความสามารถในการเจาะลึก 1,000 - 1,500 เมตร จากประเทศเยอรมันตะวันตกในขณะนั้นมาใช้ ซึ่งการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ส่งผลให้มีการค้นพบน้ำมันดิบจากการเจาะหลุมที่ 6 (HL-6) ความลึก 760 ฟุต หลุมดังกล่าวห่างออกไปทางด้านตะวันออกของแหล่งฝาง และแม้ว่าภายหลังจะเกิดปัญหาขาดงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานสำหรับการเตรียมหลุมผลิต ทำให้จำต้องหยุดการผลิตลงในที่สุด แต่ถึงกระนั้น การผลิตในครั้งนั้นก็ทำให้ได้น้ำมันทั้งสิ้น 1,040 บาร์เรล และทำให้คนไทยได้รู้จักแหล่งน้ำมันดังกล่าวในนาม “แหล่งไชยปราการ”

ตั้งแต่ พ.ศ.2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นยุคตื่นตัวและยุคที่เรียกกันว่ายุคโชติช่วงชัชวาล รัฐบาลได้มีนโยบายให้เอกชนเข้ามาทำการสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งแต่เดิมเป็นกิจการที่สงวนไว้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ และในปี พ.ศ. 2505บริษัท Union Oil Company of California ต่อมาคือบริษัทยูโนแคลและปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ค้นพบทั้งก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวในแหล่งที่รู้จักกันดีว่า  “แหล่งเอราวัณ” ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกในอ่าวไทย ซึ่งมีปริมาณที่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่บริษัท Texas Pacific ก็ได้สำรวจพบแหล่งก๊าซที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า “แหล่งบงกช” (และปัจจุบันเป็นของบริษัท ปตท.สผ.) ซึ่งนับเป็นแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน



การค้นพบปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจในสายตาของบริษัทน้ำมันต่างชาติมากขึ้น ทำให้ช่วงต้นปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งในครั้งนี้เอง มีบริษัท Thai Shell และบริษัท Esso Exploration โดยบริษัท Thai Shell ได้รับสัมปทานคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ซึ่งในปี พ.ศ.2524 ได้มีการขุดพบน้ำมันดิบและกลายเป็นแหล่งน้ำมันที่รู้จักกันดีในนามแหล่งสิริกิติ์(ปัจจุบันเป็นของบริษัท ปตท.สผ.) ส่วนบริษัท Esso Exploration ก็ได้รับสัมปทานในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการขุดพบก๊าซธรรมชาติที่พัฒนาจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “แหล่งก๊าซน้ำพอง” ในปีเดียวกันนั่นเอง

จากประวัติศาสตร์การสำรวจ ผลิต ขุดเจาะปิโตรเลียมของไทย ทำให้เรารับรู้ถึงบทบาทของนักสำรวจและบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ในมุมหนึ่ง ต้องยอมรับว่า  “หากไม่มีเขาวันนั้น ก็ไม่มีเราในวันนี้”  เพราะจากจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการสำรวจ ผลิต ขุดเจาะนั้นทำให้คนไทยต่อมาได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ของบุคลากรในบริษัทต่างชาติเหล่านี้และยังทำให้เราทุกคนได้กระจ่างใจว่าทรัพยากรที่อยู่ใต้ผืนดินไทยหรือในทะเลไทยมีค่ามากมหาศาลเพียงใด ทั้งที่เราเคยมองว่าการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่วันนี้เราสามารถที่จะเรียนรู้ เข้าใจและทำงานด้านปิโตรเลียมได้อย่างไม่เป็นรองใคร และส่งผลให้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยในวันนี้กลายเป็นหนึ่งกิจการที่บุคลากรชาวไทยมีความสามารถในการทำงานทัดเทียมในระดับนานชาติเลยทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง     : เว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและเว็บไซต์กรมการพลังงานทหาร
////////////////////////////////////////////////


สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
“30ปี เอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย”