ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 8:รัฐกับประโยชน์ที่ได้รับจากสัมปทานปิโตรเลียม

         รัฐกับประโยชน์ที่ได้รับจากสัมปทานปิโตรเลียม  

การสำรวจเพื่อค้นหาปิโตรเลียมนั้นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล  ต้องการบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ  รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย  การเชิญชวนให้เอกชนเข้ามารับความเสี่ยงแทนรัฐ จึงต้องแลกกับเงื่อนไขผลตอบแทนที่จูงใจและเหมาะสมกับความเสี่ยงในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 

ระบบแบ่งผลประโยชน์ที่รัฐนำมาใช้ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้นกำหนดให้จัดเก็บในรูปของค่าภาคหลวงซึ่งมีอัตราคงที่คือร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายและมีการจัดเก็บภาษีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ 

                    
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม เพื่อปรับรูปแบบการจัดเก็บค่าภาคหลวง สำหรับบริษัทที่ได้รับสัมปทานในช่วงต่อมา โดยจัดเก็บค่าภาคหลวงในรูปแบบขั้นบันไดตามระดับการผลิตตั้งแต่ร้อยละ 5-15 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย ในขณะที่การจัดเก็บภาษีเงินได้ยังอยู่ในอัตราเดิมคือร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ พร้อมทั้งมีส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือมีการจัดเก็บ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษร้อยละ 0-75 ของกำไรปิโตรเลียม ผลประโยชน์พิเศษตรงนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น จะเป็นผลดีต่อทั้งเอกชนและรัฐ โดยหากเป็นช่วงที่ปิโตรเลียมในตลาดโลกมีราคาสูง และบริษัทผู้รับสัมปทานมีการผลิตออกขายมาก ก็จะส่งผลให้รัฐได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย 

 
กระทรวงพลังงานเปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้จากกิจการสำรวจและผลิตของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมภายในประเทศและจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย  ในรอบ 12 เดือนของปีงบประมาณ 2552 (1 ต.ค. 2551 – 30 ก.ย. 2552) คิดเป็นเงินเข้ารัฐทั้งสิ้น 140,959 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดที่จัดเก็บของปีงบประมาณ 2551 ซึ่งเก็บได้รวม 121,084 ล้านบาท ถึง 19,875 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16)

                    
ในขณะที่ปีงบประมาณ 2553 (1 ต.ค. 2552 – 30 ก.ย. 2553) จัดเก็บรายได้เป็นเงินเข้ารัฐทั้งสิ้น 121,518.91 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บจากแหล่งในประเทศเป็นเงิน 42,044.67 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นเงิน 9,969.47 ล้านบาท และรายได้จากผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ  เป็นเงิน 1,779.77 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีรายได้ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร คือ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นเงิน 67,725  ล้านบาท

 
ตัวเลขรายได้ที่รัฐได้รับจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่มากกว่า 1 แสนล้านบาทในแต่ละปี ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน มาถึงจุดนี้เราคงได้คำตอบแล้วละว่า การตัดสินใจเชิญชวนและสร้างแรงจูงใจให้เอกชนได้เข้ามาลงทุนสำรวจหาปิโตรเลียมในอดีตเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนสู่รัฐเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

 
ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

////////////////////////////////////////////////


                สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

             “30ปี เอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย”