กว่าจะได้มาซึ่งปิโตรเลียม: การสำรวจทางธรณีวิทยา

กว่าจะได้มาซึ่งปิโตรเลียม: การสำรวจทางธรณีวิทยา

ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนมหาศาลและมีความเสี่ยงสูง ด้วยเหตุนี้เอง บุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญไม่แพ้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพราะการที่จะผลิตปิโตรเลียมนั้นต้องขุดเจาะลงไปใต้พื้นพิภพ ลึกลงไปหลายกิโลเมตร   และเมื่อขุดเจาะสำรวจไปแล้วอาจพบหรือไม่พบปิโตรเลียมก็ได้ หรือพบในปริมาณที่น้อยไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนผลิตในเชิงพาณิชย์    เราลองมาดูขั้นตอนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยกันครับ แล้วจะรู้ว่ากว่าจะได้มาซึ่งปิโตรเลียมไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย 

การค้นหาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบนี้จะเริ่มจากการสำรวจด้วยการวัดคลื่นไหวสะเทือน ซึ่งจะต้องเช่าเรือสำรวจมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันนี้ บริษัทผู้รับสัมปทานจะทำการสำรวจทันทีไม่ได้ จะต้องมีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแจ้งข้อมูลและขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียดให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบ อีกทั้งรายงานการศึกษาดังกล่าวนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเสียก่อน จึงจะดำเนินการสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือนนี้ได้ 

                       

โดยก่อนเริ่มทำการสำรวจนั้น จะต้องเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางต่างๆ ออกจากแนวสำรวจ รวมทั้งติดต่อกับเรืออื่นๆ ไม่ให้แล่นตัดเข้ามาในแนวของเรือสำรวจ ซึ่งจะต้องมีการสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบแผนการสำรวจ ขอบเขตพื้นที่ และกำหนดเวลาการสำรวจล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน อย่างไรก็ตาม การเดินเรือ หรือการทำประมงก็สามารถกระทำได้ตามปกติ ในระยะห่างไม่น้อยกว่า 500 เมตร จากเรือสำรวจและอุปกรณ์สำรวจ ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดพื้นที่ ระยะทางรวมของแนวสำรวจทั้งหมด และสภาพอากาศ

การวัดคลื่นไหวสะเทือน ก็คือการยิงคลื่นเสียงให้ทะลุชั้นหินลงไป โดยจะใช้เรือที่ลากสายเส้นเสียงเหมือนลากตัวไมโครโฟน  เพื่อเก็บข้อมูลจากทางไมโครโฟนนับร้อยๆ ตัวที่เรือลาก  พอคลื่นสะท้อนกลับมาก็จะมีอุปกรณ์คอยจับสัญญาณแล้วบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ เสร็จแล้วก็เอาข้อมูลกลับมาวิเคราะห์โดยนักธรณีวิทยาและนักธรณีฟิสิกส์อีกที   

           

นักธรณีวิทยาและนักธรณีฟิสิกส์จะปรึกษากันจากแผ่นข้อมูลที่เป็นภาพพิมพ์ลายเส้นของชั้นหินมากมายหลายร้อยแผ่น ในการทำงาน นักธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์จะศึกษาดูว่าแผนที่ชั้นดังกล่าวอยู่ในยุคไหนในทางธรณีวิทยา อาทิเช่น พื้นที่ตรงนี้ลักษณะเคยเป็นแม่น้ำ ทะเลสาบหรือทะเลเมื่อหลายล้านปีที่ผ่านมา  เพื่อนำมาพิจารณาดูว่า ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ถ้ามีปิโตรเลียมเกิดขึ้นจริง  จะเกิดขึ้นที่บริเวณไหนแล้วก็จะไหลไปสะสมตัวอยู่ที่ไหน  เพื่อตรวจสอบลักษณะการวางตัว โครงสร้างของชั้นหิน และเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณากำหนดตำแหน่งหลุมเจาะสำรวจ หรือหลุมพัฒนาต่อไป 

และนี่เป็นแค่เพียงขั้นตอนของการทำการสำรวจทางธรณีวิทยาเท่านั้น กว่าจะได้มาซึ่งปิโตรเลียมนั้น ยังรวมถึงขั้นตอนการเจาะหลุมสำรวจและการผลิตอีกด้วย ซึ่งเราจะมาพูดถึงกันในตอนหน้าครับ

ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

///////////////////////////////////////////////
             

      สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด       

 “30ปีเอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย”