พพ.ร่วมเอ็กโก้ ทำหนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน

พพ.ร่วมเอ็กโก้ ทำหนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ทำโครงการ “หนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน” บ้านโป่งสะแยน หวัง พัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและขนาดเล็กมากในระดับหมู่บ้านและชุมชนจำนวน 324 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ทำโครงการ “หนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน” บ้านโป่งสะแยน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ระหว่างปี 2551-2565 ผลักดันให้เกิดการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและขนาดเล็กมากในระดับหมู่บ้านและชุมชนจำนวน 324 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 รวมทั้ง ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในปีนี้ด้วย ภายใต้แนวคิด "ลดโลกร้อน ถวายพ่อ" ในการสร้างการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ปีละ 255 ตัน และช่วยรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำจากการที่ชุมชนเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของป่าและน้ำ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค อุปโภค การเกษตร รวมถึง ต้นทางพลังงานไฟฟ้า คาดว่า โครงการนี้จะรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ปีละมากกว่า 23,000 ไร่ โดยเฉพาะบริเวณบ้านโป่งสะแยนที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบรูณ์มากกว่า 6,000 ไร่ เนื่องจากเป็นโครงการต้นแบบที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานทดแทนในระดับชุมชนให้กว้างขวางขึ้น นำไปสู่การตื่นตัวในการพัฒนาพลังงานทดแทนและความมั่นคงและความยั่งยืนทางด้านพลังงานของประเทศต่อไป

ด้าน นายวินิจ แตงน้อย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า โครงการ “หนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน” เป็นโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากต้นน้ำ ที่ นำร่องในพื้นที่ป่าต้นน้ำจำนวน 6 แห่ง ในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ถึง เดือนมกราคม 2556 โดยหมู่บ้านโป่งสะแยน เป็นแห่งที่สองของโครงการฯ ที่ ป่าต้นน้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นต้นทางในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่สำคัญชุมชนมีความเข้มแข็งและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ