ตอนที่ 15 การขุดเจาะแบบหลุมแคบ คำตอบสำหรับอ่าวไทย

ตอนที่ 15 การขุดเจาะแบบหลุมแคบ คำตอบสำหรับอ่าวไทย

 
ในตอนที่แล้วคุณผู้อ่านได้รู้จักกับบทบาทของศูนย์เศรษฐพัฒน์ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพที่มีความรู้ทั้งในทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติก่อนที่จะลงไปทำงานจริงที่แท่นผลิตปิโตรเลียมกันมาแล้ว ในตอนนี้ เราจะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับเทคนิคการขุดเจาะแบบหลุมแคบ หรือ Slim hole drilling ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย 


ในการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีความลึกแต่ละหลุมประมาณ 9,000 - 9,500ฟุต จากระดับความลึกของผิวน้ำทะเล การขุดเจาะหลุมแคบ หรือ slim hole เป็นวิธีการเจาะหลุมที่มีขนาดหลุมเล็กกว่าการเจาะแบบปกติที่ต้องขุดเจาะหลุมขนาดใหญ่ 26-30 นิ้ว และ 17 ½ นิ้ว ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 12 ¼ นิ้ว แล้วจึงทำการขุดเจาะหลุมผลิตขนาด 8 ½ นิ้ว และใส่ท่อผลิตขนาด 7 นิ้ว แต่ในการเจาะแบบหลุมแคบหรือ slim hole นี้จะแบ่งเป็นสามชั้นขนาด 12 ¼ นิ้ว และ 8 ½ นิ้ว ขนาดหลุมผลิตที่ต้องขุดเจาะเล็กลงเหลือ 6 1/8 นิ้ว และใส่ท่อผลิตขนาด 2 7/8 นิ้วหรือ 3 ½  นิ้วเท่านั้น

                   
จากประสบการณ์ในการพัฒนาแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ของกลุ่มบริษัทเชฟรอนฯ พบว่า ทั้งแหล่งก๊าซหรือแหล่งน้ำมันที่มีการขุดเจาะด้วยวิธีดังกล่าวจะมีขนาดเล็กกว่าแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแหล่งปิโตรเลียมในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ โดยส่วนใหญ่ปิโตรเลียมมักถูกพบอยู่รวมกันเป็นกระเปาะเล็กๆ ตามแนวแตกของหิน ดังนั้น การจะพัฒนาแหล่งผลิตเพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด จึงจำเป็นต้องขุดหลุมเจาะจำนวนมาก และแต่ละหลุมควรต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ซึ่งการขุดเจาะด้วยวิธีนี้นั้นทำได้อย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง และสามารถออกแบบแท่นผลิตให้เล็กลงจากปกติได้ ส่งผลให้มีต้นทุนการเจาะหลุมที่ต่ำกว่าการเจาะหลุมแบบปกติ หรือ Conventional Hole Drilling ด้วยเหตุนี้ การนำเทคนิคการเจาะแบบหลุมแคบมาใช้ จึงเป็นคำตอบสำหรับแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่บริษัท เชฟรอนนำมาใช้พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดที่มีอยู่ นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา เนื่องจากสามารถเจาะหลุมสำรวจและผลิตได้จำนวนมาก และสอดคล้องกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาใต้ดินในอ่าวไทย 


ในด้านความเร็วของการขุดเจาะ สถิติที่น่าจดจำที่ถูกบันทึกไว้สำหรับการนำเทคนิคการเจาะหลุมแคบ (slim hole) มาใช้ คือการเจาะหลุมฟูนาน เจ-13 ในอ่าวไทยเมื่อปี 2542 ของทางเชฟรอน (หรือ ยูโนแคลไทยแลนด์ในช่วงนั้น) โดยอาจเรียกได้ว่าเป็นการเจาะหลุมที่เร็วที่สุดในโลก โดยสามารถเจาะได้ด้วยอัตราเร็ว 5,145 ฟุตต่อวัน ทำลายสถิติที่เคยเจาะหลุมสตูล เอ-17 ที่เคยทำได้ 4,720 ฟุตต่อวันเมื่อปี 2540   ซึ่งหลุมฟูนานเจ- 13 นี้ เจาะถึงความลึกที่ 9,862 ฟุต (ความลึกตามแนวดิ่ง 7,900ฟุต) ภายในเวลาเพียง 46 ชั่วโมงเท่านั้น 
บริษัท เชฟรอนฯ ยังมีแท่นผลิตเก่าที่เคยออกแบบไว้เป็นหลุมใหญ่ 12 หลุม ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ด้วยเทคนิคการเจาะแบบหลุมแคบ โดยแบ่งหลุมใหญ่ดังกล่าวออกได้เป็น 3-4 หลุมย่อย ทำให้ได้จำนวนหลุมเพิ่มขึ้นเป็น 24 หลุม หรือ 36 หลุม ซึ่งช่วยให้ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง นั่นหมายรวมถึงผลตอบแทนที่กลับคืนสู่รัฐจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน


การที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้นำเทคนิคการเจาะหลุมแบบแคบหรือ slim hole มาใช้ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมานั้น นับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สามารถผลิตก๊าซได้เพิ่มขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางธรณีวิทยา ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ถือเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศที่ยังใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย 

            สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด 

       “30ปี เอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย”