บทความตอนที่ 17 รู้จักกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกฎหมายปิโตรเลียม

บทความตอนที่ 17   รู้จักกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกฎหมายปิโตรเลียม

 

นอกเหนือจากบทบาทของบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อให้เราคนไทยได้ใช้ประโยชน์ และนำส่งรายได้ส่วนหนึ่งให้รัฐนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ แล้ว  บทบาทในการกำกับดูแลของภาครัฐ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ก็ถือได้ว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการช่วยให้การดำเนินการของบริษัทผู้รับสัมปทาน มีมาตรฐานความปลอดภัย  มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  และให้ผลตอบแทนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับภาครัฐ บทความตอนนี้ จึงอยากจะให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปิโตรเลียมให้มากขึ้น

         

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดตั้งขึ้นตามนโยบายการปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล ซึ่งมีการออกเป็นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545  มีฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นแกนนำในการส่งเสริม และเร่งรัดการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติในประเทศและส่งเสริมความร่วมมือด้านการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างและรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือการบริหารจัดการครอบคลุมทั้งการให้สัมปทาน  การสำรวจ  การผลิต  การเก็บรักษา การขนส่งการขาย และการจำหน่ายปิโตรเลียม ตลอดจนกำหนดแนวทางการจัดหา การพัฒนา และการจัดการแหล่งปิโตรเลียม

         

นอกจากนี้บทบาทของกรมฯ ยังต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและข้อผูกพันต่อรัฐ  และเป็นหน่วยงานที่จัดเก็บค่าภาคหลวงและผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกิดจากกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม  การกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือตามที่กระทรวงพลังงานหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย  โดยมีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องที่ออกมารองรับคือพระราชบัญญัติปิโตรเลียม กฏกระทรวง  ประกาศและระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม

         

พระราชบัญญัติปิโตรเลียม ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่นำมาบังคับใช้กับการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง คือในปี 2516, 2522, 2532, 2534 จนมาถึงฉบับที่ใช้ล่าสุดคือ ปี 2550 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ

         

พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2550 มีการแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาในหลายมาตรา เนื่องจากรัฐบาลในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าจากที่พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน จนมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะในข้อเท็จจริงที่แหล่งปิโตรเลียมในประเทศส่วนใหญ่ เป็นแหล่งขนาดเล็กและมีสภาพทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน  ผู้ที่รับสัมปทานต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงมาก อีกทั้งแหล่งปิโตรเลียมหลายแหล่งเริ่มมีกำลังการผลิตลดต่ำลง  จึงจำเป็นต้องแก้ไขบทบัญญัติให้เป็นที่จูงใจผู้ประกอบการ ที่จะทำการลงทุนสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์

นอกจากนี้  ยังมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความชัดเจนขึ้น  รวมทั้งปรับขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติและอนุญาตของรัฐเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้มีความคล่องตัวในการดำเนินการ และสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการปิโตรเลียมข้ามชาติกลุ่มเดียวกัน

เมื่อได้รู้จักบทบาทหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ต้องคอยกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปิโตรเลียมให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายปิโตรเลียมฉบับล่าสุดปี 2550 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะประเด็นการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น คงจะช่วยให้ประชาชนที่มีความห่วงใยในเรื่องนี้คลายความวิตกกังวลลงได้มาก

 

////////////////////////////////////////////////


สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  

 “30 ปี เอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย”