ตอนที่ 18 : ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับการพัฒนาคน

ตอนที่ 18   : ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับการพัฒนาคน

 
ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนอกจากจะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการดำเนินงานแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในการบริหารจัดการเทคโนโลยีดังกล่าว การพัฒนาบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาบุคลากรที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง


นอกจากการมอบทุนการศึกษาและการฝึกอบรมสำหรับพนักงานของบริษัทฯ เองแล้ว เชฟรอนยังมองไปถึงการเตรียมความพร้อมบุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอีกด้วย  ไม่ว่าจะเป็นช่างเทคนิคปิโตรเลียม นักธรณีวิทยาและวิศวกรปิโตรเลียม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศในภาพรวม  โครงการพัฒนาการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยตรง  อาทิ  โครงการค่ายธรณีวิทยาซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อแนะแนวการศึกษาด้านธรณีวิทยาให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการเน้นให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของนักธรณีวิทยาในการสำรวจปิโตรเลียม  โครงการทุนฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียม ซึ่งโครงการนี้ทางเชฟรอนได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด มอบทุนฝึกอบรมระยะเวลา 8 เดือน ณ ศูนย์ฝึกอบรมเศรษฐพัฒน์ จังหวัดสงขลา จำนวนปีละประมาณ 45 ทุน ให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. หรือปริญญาตรีสายเทคนิคจากทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรในการทำงานที่แท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง ปัจจุบันได้มอบทุนให้กับนักเรียนเทคนิคปิโตรเลียมเป็นรุ่นที่ 10 แล้ว และสำหรับการศึกษาด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรีนั้น  เชฟรอนมีโครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมอบทุนปีละประมาณ  50 ทุน รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ให้แก่นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี  โดยทุนทั้งสองโครงการนี้ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ 

                               
และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้านปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน  ในปี 2551 เชฟรอนได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโทด้านธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติระยะเวลา 1 ปี ณ คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยปัจจุบันได้เปิดสอนเป็นรุ่นที่ 3 แล้วและมีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนทั้งจากประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย  ต่อมาในปี 2553 เชฟรอนได้จับมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม โดยเชฟรอนสนับสนุนงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553 ไปจนถึง 2557 เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับคณาจารย์ งานวิจัย ตลอดจนเครื่องมือในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในปี 2554 เชฟรอนยังได้สนับสนุนความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

                              
โครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษาระดับประเทศของเชฟรอนยังรวมถึงความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน  ในปี 2551 เชฟรอนได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในการดำเนินโครงการโรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน พลังใจ พลังคน  โครงการระยะยาว 3 ปี (2551-2554) ที่สนับสนุนโครงการด้านการจัดการขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อมใน 84 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา นอกจากนี้โครงการสนับสนุนการศึกษาระดับประเทศที่ผ่านมายังรวมถึง โครงการเชฟรอนรวมพลังสร้างโรงเรียนถวายพ่อ ในปี 2550 ที่จัดกิจกรรมเชิญชวนคนไทยให้ร่วมบริจาคเงินแก่มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้กับเยาวชนในกว่า 750 โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดานซึ่งขาดแคลนครูผู้สอน รวมเงินสนับสนุนทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านบาท และโครงการเชฟรอนรวมใจไทยเพื่อพระดาบส ในปี 2549 ที่สนับสนุนมูลนิธิพระดาบส โดยเชฟรอนร่วมกับประชาชนชาวไทยมอบทุนรวมทั้งสิ้น 56.7 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนการศึกษาและฝึกวิชาชีพให้กับนักเรียนในโครงการอีกด้วย

          ข้อมูลอ้างอิง      บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
                     ////////////////////////////////////////////////

    
                                   สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  

                        “30 ปี เอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย”