ถ่านหินเชื้อเพลิงที่มากกว่าการผลิตไฟฟ้าในอนาคต

ถ่านหินเชื้อเพลิงที่มากกว่าการผลิตไฟฟ้าในอนาคต

ปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน  เป็นต้น ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าแล้วก็ปีละหลายแสนล้านบาท  กระทรวงพลังงานจึงเร่งส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนในบ้านเราทั้งในส่วนของน้ำมัน และไฟฟ้า แต่ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัด กระทรวงพลังงานจึงเล็งเห็นความสำคัญในการไปดูเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งในครั้งนี้ได้นำคณะสื่อมวลชนไปดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อดูบทบาทความสำคัญของ CSIRO หรือ Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลีย ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1926 หรือปี พ.ศ. 2469 งานวิจัยของ CSIRO ครอบคลุมทั้งในส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศออสเตรเลีย

โดยได้มีโอกาสไปทำความรู้จักกับ CSIRO Energy Technology in Newcastle ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลีย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลออสเตรเลียสูงถึง 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท และยังใช้เทคโนโลยีจากหลายประเทศมาร่วมกันศึกษา

โดยโครงการที่น่าสนใจมากโครงการหนึ่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ National Solar Energy Centre ( NSEC )  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Newcastle ในรัฐ New South Wales เป็นโครงการ วิจัยขั้นสูงด้านพลังงานแสงอาทิตย์ NSEC เป็นที่ตั้งของระบบรวมแสงอาทิตย์ที่ใหญ่มาก มีกำลังการผลิตสูงสุด ระบบรวมแสงนี้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนได้มากกว่า 100 หลังคาเรือน  ใช้งบประมาณในการการก่อสร้างสูงถึง 375 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท

ระบบรวมแสงนี้ เป็นโครงการที่ใช้กระจกเงาจำนวนมาก มาติดตั้งแล้วรวมแสงอาทิตย์เข้าสู่หอคอย ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวมแสงเพื่อเก็บความร้อนไว้โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส ก่อนนำไปผลิตเป็นพลังงานได้มากกว่า 500 กิโลโวลล์  แล้วเอาความร้อนนั้นไปใช้ประโยชน์  ซึ่งในกรณีนี้นำไปใช้ผลิต Solar Gas โดยพลังงานที่ได้สามารถนำมาใช้ 2 รูปแบบ คือ การนำไปใช้ในเครื่องยนต์ เช่น เครื่องกังหันก๊าซเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือนำไปแยกเพื่อให้ได้ก๊าซไฮโดรเจน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยในการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะเป็นรูปของก๊าซ เพื่อให้จัดเก็บและการขนส่งทำได้ง่ายขึ้น  และยังเป็นการช่วยลดผลกระทบจากความไม่สม่ำเสมอของแสงอาทิตย์ด้วย 

ซึ่งจากการไปดูงานในครั้งนี้  นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  โครงการแบบนี้ประเทศไทยก็เคยมีแนวคิดที่จะดำเนินการ แต่ก็ยังเป็นแค่แนวคิด แต่พลังงานแสงอาทิตย์ของบ้านเราที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นการใช้แผงโซลาร์เซลล์ คือ เอาแผงโซลาร์มาเปลี่ยนเป็นอิเล็กตรอน แล้วมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้เชื่อว่าในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจะเติบโตมาก เพราะต้นทุนการผลิตขณะนี้ปรับลดลงมาก จึงจำเป็นต้องดูแลเรื่องส่วนต่างการรับซื้อค่าไฟฟ้า หรือ adder ให้เหมาะสมกับต้นทุนที่ปรับลดลงด้วย ส่วนในอนาคตจะเห็นเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในบ้านเราหรือไม่ คงต้องรอดูความเหมาะสมและความคุ้มทุนก่อน  แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่า หากโครงการนี้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเชิงพาณิชย์แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องแก๊ส เพราะหากมีแหล่งผลิตแก๊สมากขึ้น ก็จะช่วยลดปริมาณการใช้แก๊สในอ่าวไทย ให้ขยายระยะเวลาในการใช้ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่จะเหลือใช้ได้อีกประมาณ 20  ปีเท่านั้น

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม Queensland Centre for Advanced Technologies ( QCAT ) ซึ่งเป็นอีกศูนย์วิจัยหนึ่งของ CSIRO ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง CISRO และรัฐบาลรัฐ Queensland ซึ่งได้มีการก่อตั้งในปี ค.ศ. 1990 โดยโครงการที่น่าสนใจ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการลดการปล่อยมลภาวะ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ  โดยเป็นการแยกคาร์บอนและจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัย  เนื่องจากประเทศออสเตรเลียมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 50% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ

CSIRO  จึงได้พัฒนาแนวทางในการจัดการกับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมี 2 วิธี คือ 1. การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจัดเก็บลงใต้ดิน  ส่วนวิธีที่ 2 คือ  การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปลดปล่อยออกมาจากการเผาไหม้กลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

จากการเยี่ยมชมดังกล่าว  รัฐมนตรีว่าพลังงานได้แสดงความคิดเห็นว่า ในส่วนตัวให้ความสำคัญกับเรื่องถ่านหินมาก เนื่องจากถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ที่มีอยู่ในโลกสามารถใช้งานได้อีก 150-200 ปี  แต่ถ้าเทียบกับน้ำมันจะมีสำรองไม่เกิน 100 ปี   ถ่านหินจึงเป็นเชื้อเพลิงที่น่าจะเหมาะกับบ้านเรา โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีราคาที่ถูกที่สุด เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ  ทำให้ต้นทุนการผลิตจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะสามารถเข้ามาช่วยในเรื่องของค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร หรือ เอฟที ให้ปรับลดลง โดยที่ประเทศออสเตรเลียมีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนประมาณ 80%  ขณะที่ไทยมีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพียง 10-20%  ถือว่าน้อยมาก แต่ในอนาคตเชื่อว่ายังมีศักยภาพมากพอที่จะเพิ่มสัดส่วนได้

แต่การที่จะนำถ่านหินไปใช้ที่ประเทศไทย จะต้องมีการเตรียมความพร้อม เนื่องจากที่ผ่านประชาชนจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อถ่านหิน โดยเฉพาะในเรื่องของการปล่อยมลภาวะ แต่เนื่องจากในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้การปล่อยมลภาวะลดน้อยลง โดยเฉพาะเขม่า สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารพิษต่างๆ หรือเรียกกันว่าถ่านหินสะอาด หรือ clean coal โดยมีกรรมวิธีที่จะเอาถ่านหินมาผ่านกระบวนการเพื่อให้ถ่านหินสะอาดขึ้น พอนำไปใช้งานก็ต้องมีการนำไปผ่านกระบวนการทำให้สะอาดอีกทีหนึ่ง ซึ่งทำให้ส่วนไม่ดีหรือมลภาวะต่างๆ หายไป นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นเอาถ่านหินมาสกัดเป็นน้ำมันด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเอาถ่านหินมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้  ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าถ่านหินจะเป็นเชื้อเพลิงที่น่าจะมีอนาคตอีกไกล  หากมีการให้ความรู้และแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าถ่านหินไม่ได้อันตราย แต่กลับเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดและมีต้นทุนถูก

ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีพลังงานก็ให้ทางเลือกว่า หากประเทศไทยจะส่งเสริมในเรื่องของพลังงานสะอาด อย่างพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์  ลม หรือชีวมวล ประชาชนก็จะต้องยอมรับในเรื่องของต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งก็จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย  

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยได้มีแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยได้กำหนดเป็นนโยบายของกระทรวงแล้ว  โดยนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  กระทรวงพฃังงานจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานลดการใช้พลังงานลงจากปีฐาน 20% แล้วก็แผนส่งเสริมพลังงานทดแทนให้ได้ 25% ของปริมาณการใช้ทั้งหมดของประเทศภายในปี 2565 ซึ่งเป็นแผนที่เกิดในรัฐบาลนี้ และปัจจุบันก็ใช้พลังงานทดแทนมากกว่า 11% แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ไฟฟ้า หรือความร้อน ขณะที่ประเทศออสเตรเลียก็มีแผนพลังงานทดแทนระยะเวลา 10 ปี  เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ให้ได้ประมาณ 20% เช่นกัน

ส่วนเรื่องที่จะสามารถนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ พีดีพี  ส่วนตัวอยากเห็นเชื้อเพลิงจากถ่านหินในสัดส่วน 50% เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาจากการก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ขณะเดียวกันก็ควรจะต้องมีการเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน แต่ในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก เนื่องจากพลังงานทดแทนมีต้นทุนสูง และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ก็จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าอีกโรง เพื่อไว้สำรองไฟฟ้าด้วย ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนสูงเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนที่ถูก แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาให้รอบด้าน  ซึ่งในอนาคตอย่างไรก็หนีไม่พ้น เพราะเป็นทางออกเรื่องการลดมลภาวะ เพราะเป็น พลังงานสะอาด แต่ก็จะรอดูเทคโนโลยีของประเทศที่มีความเหมาะสม และรอจนกว่าคนไทยจะสามารถยอมรับได้

ในอนาคตเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะด้านไฟฟ้า โอกาสที่เห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูก แต่หากเราเลือกพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ก็จะต้องยอมรับในเรื่องของต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น คงไม่มีใครที่จะได้ตามใจทุกอย่าง แต่ที่แน่ ๆ ที่สามารถทำได้ทันที คือ การช่วยกันประหยัดพลังงานเสียแต่วันนี้ เพื่อลูกหลานในอนาคตที่จะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาไม่แพงจนเกินไปนัก