ความจำเป็นกับการสร้างโรงไฟฟ้าในไทย ?

ความจำเป็นกับการสร้างโรงไฟฟ้าในไทย ?

กลับมาดูที่ประเทศไทย ทำไม ? มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ? ที่ประเทศไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด  มาเริ่มดูจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว หรือ พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3   คือ ตั้งแต่ ปี 2553 - 2573  ที่ได้กำหนดไว้ว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จะต้องมาจากก๊าซธรรมชาติสูงที่สุด 58%  รองลงมาพลังงานหมุนเวียน 18%  ถ่านหินนำเข้า 12%  ถ่านลิกไนต์ 7% และนิวเคลียร์ 5% ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เป็น 55,065 เมกะวัตต์ เพราะในอีก 10 - 15 ปีข้างหน้า แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดไป  ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทยกลับเพิ่มขึ้นทุกปีและจะพุ่งสูงขึ้นถึง 60,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยในปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค ก็เกือบ 26,000 เมกะวัตต์

ทำให้หน่วยงานหลักในการจัดหาไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับประเทศ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ต้องเร่งหาข้อสรุปเพื่อเดินหน้าผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ป้องกันปัญหาไฟตกไฟดับที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายพงษ์ดิษฐ พจนา ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. เปิดใจว่า อยากเสนอรัฐบาลให้ยกระดับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อหาข้อสรุปว่า ในอนาคตการผลิตไฟฟ้าของประเทศจะต้องใช้เชื้อเพลิงใดเป็นหลัก เช่น พลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์ น้ำ เพื่อจะได้ลงทุนก่อสร้างได้ถูกต้องตามความต้องการ เพราะปัจจุบันทางเลือกของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีไม่มาก  โดยทางเลือกที่ยังสามารถดำเนินการได้ คือ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 2.โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4.โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่  6. การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า และ 7. การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าแต่ละทางเลือกย่อมมีทั้งข้อดี และข้อจำกัดในตัวเอง ซึ่งการที่รัฐบาล และประชาชน จะต้องยอมรับผลที่จะตามมาด้วย เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้ก๊าซธรรมชาติที่ในอนาคตในอ่าวไทยจะหมดไป ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจีจากต่างประเทศ  การพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หากมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต อาจทำให้ราคาเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย 

โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ต้องยอมรับว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีต้นทุนถูกที่สุดอยู่ที่หน่วยละ 2.30 บาท และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ แต่คงยากที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้  เพราะสังคมไทยยังยอมรับไม่ได้  ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด มีต้นทุนเพียง 2.36 บาทต่อหน่วย และมีปริมาณสำรองที่ใช้ได้มากถึง 200 ปี

ส่วนพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังน้ำ พลังลม ขยะ แสงอาทิตย์ ที่แม้สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่มีความไม่แน่นอนเพราะผลิตไฟฟ้าได้เพียงวันละ 5-6 ชั่วโมง  แถมยังมีต้นทุนสูง โดยการผลิตไฟฟ้าจากลม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5-6 บาทต่อหน่วย  แสงอาทิตย์ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 8-9 บาทต่อหน่วย  ชีวมวล ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2.80 - 3.50 บาทต่อหน่วย  ขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนอยู่ที่ 3.20 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ กฟผ.ยังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน เช่น การกำหนดโซนนิ่งเขตอุตสาหกรรมกับไฟฟ้าให้อยู่ใกล้กัน การจัดหา การเวนคืนที่ดิน การสื่อสารกับประชาชน เป็นต้น  รวมถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ดิษฐ ยังย้ำด้วยว่า  การตัดสินใจดังกล่าวจะต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มในปี 2557 อาจเกิดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นโซน ๆ ก็ได้ 

จากแผนพีดีพี 2010 และราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกรองลงมาจากนิวเคลียร์ ที่ขณะนี้บ้านเรายังไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่รู้ว่าอนาคตจะสามารถสร้างได้หรือไม่นั้น ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เป็นตัวเลือกหลักที่เกือบจะดีที่สุดในขณะนี้ ที่ กฟผ.เลือกที่จะก่อสร้างภายในปี 2556  เพราะมีราคาค่าไฟถูก มีปริมาณสำรองที่มากเพียงพอ โดยเลือกพื้นที่ก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ เพราะเป็นพื้นที่เดิมที่โรงไฟฟ้าอยู่แล้ว และความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ก็มีค่อนข้างมาก โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้แค่ 2,100 เมกะวัตต์ สวนทางอัตราการใช้ไฟฟ้าเติบโตปีละ 6%  ทำให้การก่อสร้างน่าจะสัมฤทธิ์ผลได้มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ  โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท กำลังการผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมนิวเคลียร์ กฟผ. กล่าวย้ำว่า กฟผ.มีความจำเป็นจะต้องเลือกเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดภายในอีก 20 ปี  ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่มีความชัดเจนไปจนถึงปี 2563 การนำเข้าแอลเอ็นจีราคาก็สูงขึ้นทุกวัน โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขยายได้ไม่มากเท่าที่ควร   ทำให้ถ่านหินสะอาดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  หรือ EHIA  เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะนำโมเดลจากญี่ปุ่น ทั้งในเรื่องของระบบ การก่อสร้างและวิธีปฏิบัติงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิด มิตสุอุระ เมืองนางาซากิ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบปิดอิโซโกะ เมืองโยโกฮามา มาถ่ายทอดให้ชุมชนกระบี่เกิดความมั่นใจถึง มาตรฐานความปลอดภัยและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ตามปกติ

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขออนุมัติดำเนินการ เมื่อกระบวนการผ่านทุกอย่างไปจนถึงขั้นเริ่มก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนพร้อมเปิดใช้ได้ในปี 2562 ทั้งนี้หากโรงไฟฟ้าสามารถสร้างได้ตามแผน  การกำหนดเส้นทางขนส่งถ่านหินสะอาดไปยังโรงไฟฟ้าจะต้องใช้เรือขนส่งขนาด 1.5 แสนตันต่อเที่ยว วันละ 2 เที่ยว เพื่อเก็บสต๊อกถ่านหินไว้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อสำรองไว้ใช้ให้ได้ 30-45 วัน โดยจะเป็นการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับประเทศเราต่อไป

นั่นเป็นเพียงการผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเราที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อื่น ๆ หรือ จากเชื้อเพลิงอื่น ๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าอนาคตประเทศเราจะใช้เชื้อเพลิงใดเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร และประเทศเราจะมีไฟตกไฟดับหรือไม่ คงไม่ใช่อยู่ที่มือ กฟผ.เพียงอย่างเดียวคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนอย่างเราๆ และรัฐบาลว่าอยากให้อนาคตไฟฟ้าไทยเป็นแบบไหน ?