ถ่านหินสำคัญจริงหรือ ?

ปัจจุบันกำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงชนิดใดที่จะมีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้สูงกว่า 70% และเมื่อมีปัญหาการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากพม่า ทำให้ประเทศไทยเกือบถึงขั้นวิกฤตไฟฟ้าอาจถึงขั้นไฟตกไฟดับได้ ซึ่งหลายคนมองว่าเรื่องนี้เองเป็นแผนของรัฐบาลที่จะผลักดันให้มีการเร่งผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาด และแน่นอนว่าหน่วยงานหลักในการจัดหาไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ย่อมเป็นจำเลยในเรื่องนี้

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เปิดเผยว่า ปัญหาโครงสร้างการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปถึง 70% ขณะที่ปริมาณสำรองกลับลดลงเรื่อย ๆ ทั้งในอ่าวไทย ในพม่า และในมาเลเซีย โดยในอ่าวไทยเหลือปริมาณสำรองที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 10 ปีเท่านั้น ในขณะที่พม่าเองก็เริ่มที่จะสงวนก่ซธรรมชาติไว้ใช้ในประเทศตนเอง ทำให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติบริเวณประเทศเพื่อนบ้านเป็นได้ยาก และปริมาณก็ลดน้อยลงทุกที ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยกลับมากขึ้นทุกปี ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจีแทน ซึ่งแอลเอ็นจีมีต้นทุนสูงเกือบเท่าตัว เมื่อนำมาผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งแน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟ และภาคอุตสาหกรรม

ทางเลือกอื่นที่คุณสุทัศน์ แนะนำให้ใช้มาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า คือ น้ำมัน ถ่านหินสะอาด ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ ซึ่งทางเลือกสุดท้าย อย่างนิวเคลียร์คงเกิดได้ยาก  ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดในมุมมองคุณสุทัศน์ ก็คือ ถ่านหินสะอาด เพราะประเทศไทยถือว่าโชคดีเพราะอยู่ใกล้แหล่งถ่านหินขนาดใหญ่ของโลก คือ อินโดนีเซียและออสเตรเลีย  ประกอบกับแหล่งถ่านหินในโลกยังมีปริมาณมาก ทำให้ราคาถ่านหินถูกกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น  และที่สำคัญของโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของทั่วโลก คือ จะต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วย ทำให้ทางเลือกที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีไม่มาก คือ นิวเคลียร์ พลังน้ำ แต่ถ้าประเทศไหนไม่มีก็จะใช้ถ่านหินแทน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนี ที่ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงกว่า 40%  สหรัฐอเมริกาสูงกว่า 30% จีนสูงกว่า 80% เกาหลีกว่า 30-40%  ขณะที่ประเทศไทยใช้ถ่านหินไม่ถึง 20% ซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ที่ดีที่สุด

แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ้านหินสะอาดในบ้านเราคงเป็นไปได้ยาก  แต่คุณสุทัศน์ก็เชื่อมั่นว่าจะเป็นไปได้ หากทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม มาช่วยดูทางเลือกตามความเป็นจริง  เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้เองโรงไฟฟ้าถ่านหินก็มีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม กระบวนการขจัดสารพิษต่างๆ ถูกควบคุมทุกขั้นตอน ทั้งซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สามารถขจัดได้ถึง 96% ฝุ่นละอองสามารถขจัดได้ถึง 99%  ดังนั้นจะเห็นว่าทั่วโลกไม่ได้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย และการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดังกล่าวก็เป็นชนิดเดียวกันกับรถยนต์ แต่ถือว่าดีกว่าด้วยเนื่องจากโรงไฟฟ้ามีกระบวนการในการขจัดของเสีย แต่รถยนต์ปล่อยทั้าง 100% จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้ เพียงแต่ทุกหน่วยงานจะต้องช่วยกันสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะหน่วยงานทางด้านสุขภาพอนามัย ควรออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจน  ถ้าดำเนินการตามนั้นแล้วก็เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ สุดท้ายรัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร  เพราะอย่าลืมว่า ไม่มีโครงการใดในโลกที่มีใครเห็นด้วยทั้ง 100%  จึงจำเป็นต้องเอาเสียงส่วนใหญ่ เป็นหลัก ไม่เช่นนั้นจะต้องใช้แอลเอ็นจีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกระบวนการตัดสินใจและความเข้มแข็งของรัฐบาล

แต่นโยบายที่ควรดำเนินการเลย คือ 1.การอนุรักษ์พลังงาน ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันประหยัด และใช้พลังานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างแน่นอน และ 2.นโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นพลังงานในอนาคต มีข้อดี คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลลผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน แต่มีข้อจำกัดอยู่ 2 เรื่อง คือ ความไม่เสถียรซึ่งสำคัญมาก เช่น แสงแดด ลม ซึ่งมาบางช่วงเท่านั้น และต้นทุนยังสูง ทำให้ในปัจจุบันทั่วโลกใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นตัวเสริม แต่ในอนาคตราคาพลังงานหมุนเวียนอาจถือว่าไม่แพงเพราะหากราคาน้ำมันในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็ได้ตั้งเป้าการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภทรวมประมาณ 25%

นั่นคือทางเลือกที่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องช่วยกันตัดสินใจเพื่อกำหนดอนาคตค่าไฟฟ้าของเราในอนาคต เพราะผู้ที่จ่ายค่าไฟฟ้าไม่ใช่ใครเป็นประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั่นเอง