ไฟดับภาคใต้ใครถูกใครผิด

หลังเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อตอนหัวค่ำวันที่ 21 พฤษภาคม เป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง ก่อให้เกิดปรากฎการณ์มะรุมมะตุ้ม และโยงกันไปเรื่องอื่นๆ มากมาย เริ่มจาก นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องไฟฟ้าดับ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ถึงสาเหตุของไฟฟ้าดับ พบว่ามีสาเหตุเกิดจากการขัดข้องของระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ ซึ่งสายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 วงจร คือ สาย 500 กิโลโวลต์ (KV) จำนวน 2 วงจร และสาย 230 KV จำนวน 2 วงจร โดยในช่วงเช้าของวันที่ 21พ.ค. กฟผ. ได้ได้ปลดสายส่ง 500 KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง ในช่วงเย็น สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จึงทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินพิกัดส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ

จากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้มีกำลังการผลิตเพียง 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างตั้งแต่เวลาประมาณ 18.52 น. ของ วันที่ 21 พ.ค.

โดยการแก้ไขสถานการณ์  กฟผ.ได้เร่งการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ในราคาที่สูงถึง 16 บาทต่อหน่วย

จะเห็นว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีกำลังการผลิตเพียง 2,000 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการใช้สูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีกอย่างน้อย 500 เมกะวัตต์ที่ขาด จะต้องพึ่งการผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางส่งเข้าไป

“ต้องขอโทษกับพี่น้องประชาชนชาวใต้ที่ต้องได้รับผลกระทบ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขเร่งด่วนจนสามารถทยอยจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งหมดตั้งแต่เวลา 23.45 น. พร้อมกันนี้ตนได้สั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ซึ่งจะได้มีการนำบทเรียนครั้งนี้มาศึกษาที่จะหาแนวทางป้องกันปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไปนายพงษ์ศักดิ์กล่าว

อีกทั้ง ยังสั่งการให้มีการปรับปรุงอำนาจสั่งการในศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้า ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้มีการร่างระเบียบสั่งการให้สั่งดับเป็นบางพื้นที่แทนที่จะดับเป็นบริเวณกว้างได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันระเบียบไม่ชัดเจน การสั่งการเป็นระบบอัตโนมัติ การตัดจ่ายจึงเป็นทั้งระบบ

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่อย่างใด แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากโรงไฟฟ้าภาคใต้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ จนต้องส่งไฟจากภาคกลางลงไป

นางพัลภา เรืองรอง กรรมการ กกพ. กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น กกพ.จะตรวจสอบ ว่าการแก้ปัญหาของ กฟผ.ผิดพลาดหรือไม่อย่างไร ผิดหลักเกณฑ์เรื่องคุณภาพมาตรฐาน และ จะต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่ รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเอฟที หรือไม่ โดยมาตรฐานผลกระทบของไฟฟ้าดับต่อภาคอุตสาหกรรม นั้น ในอดีตมีการคำนวณพบว่า ทุก 1 นาทีที่ดับมีผลต่ออุตสาหกรรม 60 ล้านบาท

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ต้องขออภัยประชาชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้มีการตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก

ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นราว 6% ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ขณะที่ระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ต้องพึ่งการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางบางส่วน แต่ระบบส่งที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้มีลักษณะเป็นคอขวดตามภูมิประเทศในช่วง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบส่งไฟฟ้าค่อนข้างสูง

ดังนั้น กฟผ.จึงมีแนวทางในการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ และขยายระบบส่งเพิ่มขึ้น ได้แก่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างและจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2557 รวมกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า รวมทั้งการปรับปรุงระบบส่งให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นหลักประกันและลดความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าให้แก่ภาคใต้ในระยะยาว โดยการปรับปรุงสายส่งทั้งระบบจะใช้ระยะเวลา 5 ปีจึงแล้วเสร็จ

นายวรพจน์ อินทร์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กฟผ. กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานด้านไฟฟ้าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้  โดยมีวาระเรื่องการวางมาตรการแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้า และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า หลังจากที่เศรษฐกิจภาคใต้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่พลังพลังงานมีไม่เพียงพอ

เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน จึงควรมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้ให้ได้ ซึ่งมีการสำรวจขณะนี้ คือ ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และตรัง โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย หรือภาคกลาง เพื่อจะนำเข้าสู่ระบบในปี 2562

ส่วนจากเหตุการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมา หากถามว่ายังมีโอกาสที่ไฟฟ้าจะดับทั้งภาคใต้อีกหรือไม่ กรณีนี้ตนเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ แต่ กฟผ.จะบริหารการจัดการเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าให้ดีที่สุด พร้อมเชื่อมั่นว่าหากมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เพิ่ม โดยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เชื่อว่าเหตุการณ์แบบเมื่อคืนคงไม่เกิดขึ้น ซึ่งทาง กฟผ.เองก็พยายามเต็มที่ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้ได้ แต่ก็ถูกคัดค้านมาตลอดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของภาคใต้ คือ สงขลา ภูเก็ต ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดสำคัญด้านการท่องเที่ยว

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จะหารือกับอุตสาหกรรมจังหวัดภาคใต้ เพื่อประเมินผลกระทบจากไฟฟ้าดับในช่วงที่ผ่านมา และเตรียมเสนอแนวทางให้กระทรวงพลังงาน แก้ปัญหาไฟฟ้าดับ และแนวทางเยียวยา ในวันที่ 28 พ.ค. โดยเห็นว่าเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด สะท้อนการบริหารจัดการที่ยังขาดประสิทธิภาพ และความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งทางกลุ่มจะขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุ ประเมินความเสียหายและหาผู้รับผิดชอบ รวมทั้งหาแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารในภาวะฉุกเฉิน และจัดทำแผนความมั่นคงด้านพลังงานให้ตรงกับความต้องการ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้นั้น สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การที่กระทรวงพลังงาน ระบุว่า มีโอกาสเกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวกับพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประชาชนและนักลงทุนไม่มั่นใจต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และจะมีโรงอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรจะมีการปรับปรุงแผนโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยนำปัญหาทางด้านความมั่นคงด้านไฟฟ้าในการพัฒนาสายส่งเข้าไปบรรจุในแผนด้วย พร้อมทั้งให้จัดหาพลังงานรองรับความต้องการที่ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ อาทินิวเคลียร์ ถ่านหินสะอาด และพลังงานจากชีวมวล เสริมสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับประเทศ

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประมาณการการใช้ไฟฟ้าใน 14 จังหวัดภาคใต้ อยู่ในระยะใกล้เคียงกับกำลังการผลิต ส่วนในวันที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัด เกิดจากการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าบางแหล่งในภาคใต้ และเลือกใช้ไฟฟ้าจากภาคกลางและระบบสายส่งมีปัญหา จึงเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับ ซึ่งโรงไฟฟ้าภาคใต้มีเพียงพอและยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกมาก แต่ไม่สามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งได้ เพราะไม่ได้มีการวางแผนระบบสายส่งไฟฟ้าไว้ และถ้าโรงไฟ้าจะนะ 2 สร้างเสร็จจะทำให้ภาคใต้มีไฟฟ้าเพียงพออย่างแน่นอน

ส่วนในอนาคตเชื่อว่า ต้องมีความขัดแย้งจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุไว้ว่า หากไม่ทำตามข้อเสนอของรัฐบาลต้องแก้ปัญหากันเอง พร้อมแนะนำว่า ทุกฝ่ายควรนำปัญหามาปรึกษาหารือกัน และไม่ควรยึดข้อเสนอของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

นายแนบบุญ หุนเจริญ นักวิชาการด้านพลังงาน ระบุว่า การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับ รวมถึงสามารถจะรองรับโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาค และจะต้องผสมผสานแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต

นอกจากนี้ ยังแนะนำด้วยว่าภาครัฐและภาคประชาชน ควรพูดคุยกัน เพื่อสร้างความเข้าใจ และกำหนดว่าแหล่งไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ ควรจะมีลักษณะใด เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการพร้อมๆไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น หน่วยงานด้านไฟฟ้าอาจปรับแผนสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นขนาดเล็กลงและใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว กฟผ.ไม่ควรเหมาเอาว่าควรต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น โดยอ้างว่าประเทศไทยไม่มีทางเลือกเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการจ่ายไฟ ดังนั้น การที่ไฟฟ้าดับในครั้งนี้ จึงไม่เกี่ยวกับการที่กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า กฟผ.ควรตระหนักถึงจุดอ่อนของการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ที่มีความเสี่ยง และเน้นพัฒนาการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและการผลิตแบบกระจายศูนย์

กรีนพีซเสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมุ่งสูการใช้ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของไทยที่มีอยู่อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์จะทำให้เกิดประสิทธิภาพด้านการกระจายพลังงาน ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลสกปรก และสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง โดยต้องการกระบวนการวางแผนพัฒนาพลังงานที่โปร่งใส และพลังงานไฟฟ้าที่ไม่สร้างมลพิษ ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงสภาพภูมิอากาศ

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน จ.ตรัง หนึ่งในกลุ่มเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า กฟผ.ไม่ควรจะเอาเหตุการณ์ไฟดับที่เกิดมาเป็นประเด็น หรือข้ออ้างที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่ควรจะไปหาสาเหตุ และหาหนทางแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก และไม่ควรจะโยงเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากเหตุที่เกิดมันเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค ในขณะที่ภาคใต้ยังมีกำลังไฟสำรองเพียงพอ ไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติแต่อย่างใด

ในส่วนของการเตรียมหาพลังงานสำรองในอนาคตนั้น ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังระดมความคิดกันว่าจะใช้พลังงานชนิดใดดีที่สุด เพราะเทคโนโลยีในอนาคตยังก้าวหน้ามากกว่านี้ ยังมีเวลาให้ศึกษาอย่างรอบคอบ ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำ นอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังลดต้นทุนในการผลิตลงมาได้อีก ตนขอยืนยันว่าทางกลุ่มยังคงเดินหน้าคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ จ.ตรัง ต่อไป

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ในนามสมาคมเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ.ออกมารับผิดชอบเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและเสียหายไปนับหมื่นล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลเสียหายต่อประชาชน และอุตสาหกรรม เป็นมูลค่าที่ประเมินมิได้ หากจะเอาสร้างสถานกาณ์เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทางภาคใต้ เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย และบั่นทอนต่อภาพลักษณ์ของ กฟผ. อย่างมาก ถึงความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องไฟฟ้า ดังนั้น ทางออกที่มีประโยชน์ที่สุด ทุกฝ่ายควรนำข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ออกมาแสดงความคิดเห็นและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาคงจะเป็นเรื่องดีที่สุดในเวลานี้