สาหร่ายน้ำมัน น้ำมันแห่งอนาคต

ในอนาคตพลังงานจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน  ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ก็จะหมดลงไปเรื่อยๆ ตามความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด ทำให้ต้องมีการหาพลังงานประเภทอื่นๆ มาทดแทน นั่นก็คือพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นก๊าซชีวภาพ ชีวมวล ลม หรือ แสงแดด แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการคิดค้นการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย ซึ่งถือว่าเป็นเจเนอเรชันที่ 3 แล้ว เนื่องจากสาหร่ายมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันได้ โตเร็ว เพาะปลูกได้  

ซึ่งหนึ่งในหลายๆ หน่วยงานที่มีการศึกษาวิจัยเรื่องสาหร่ายที่มีชื่อเสียง นั่นก็คือ องค์การวิทยาศาสตร์และวิจัยอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย หรือ CSIRO ซึ่งได้มีการพัฒนาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำเค็มในออสเตรเลีย เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมในการผลิตน้ำมันในปริมาณสูง มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นแหล่งสำรองเชื้อเพลิงชีวภาพอีกทางหนึ่ง

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ได้ร่วมมือกับ CSIRO เพื่อที่จะได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีสาหร่ายน้ำมัน  ทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมในการผลิตพืชพลังงาน ที่มีต้นทุนต่ำ และ งานด้านการตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อนำไปขยายการผลิตและการดำเนินการเชิงพาณิชย์ในอนาคต เพื่อเป็นแหล่งสำรองเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นทางเลือกด้านพลังงานทดแทนอีกทางหนึ่ง โดยสาหร่ายน้ำเค็มเป็นพืชพลังงานที่ให้ปริมาณน้ำมันมากกว่าปาล์มดิบถึง 20 - 30 เท่า ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาวิจัย โดยจะเห็นเชิงพาณิชย์ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า  ที่คนรุ่นหลังอาจจะได้ใช้น้ำมันจากสาหร่ายเซลล์เดียวคุณภาพออกมาเหมือนน้ำมันปาล์ม

สำหรับในประเทศไทยเอง สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ก็อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ โดยเน้นสาหร่ายน้ำจืดที่มีในไทยเป็นหลัก  โดยนายวิจิตร แตงน้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวว่า ปตท.ได้เริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาสาหร่ายน้ำมันในไทยมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งได้มีการค้นพบสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กในไทยที่มีศักยภาพสามารถผลิตน้ำมันได้ 20-30% ของน้ำหนักแห้ง และได้มีการจัดสร้างระบบนำร่องผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็กในบ่อขนาด 100,000 ลิตร ที่สถาบันวิจัย และที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ จังหวัดระยอง โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ จากโรงแยกก๊าซฯ มาเพาะเลี้ยง นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาวิจัยถึงสภาวะที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยง เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ต่อไป

หากการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายทำได้เชิงพาณิชย์จริง ก็หวังว่าในอนาคตลูกหลานของเราจะได้ใช้พลังงานทางเลือกที่มีราคาถูกและสะอาดมากขึ้น