โรงไฟฟ้าชุมชนที่ประชาชนจับต้องได้

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ได้เห็นชอบแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจาก “โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน" ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก ที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะใหมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมในโครงการนี้ จำนวน 800 เมกะวัตต์ และจะผลักดันให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2557

ดังนั้น จึงได้อนุมัติให้มีการจัดตั้ง คณะอนุกรรมการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน เพื่อทำหน้าที่ประสานการดำเนินโครงการฯ และเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยให้กองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองเป็นเจ้าของโครงการ และให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และธนาคารออมสิน เป็นผู้สนับสนุน และพัฒนาโครงการจนสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ และให้ กฟภ. กับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ โดยได้อนุมัติอัตรารับซื้อไฟฟ้าระบบ Feed-in Tariff (FiT) ในอัตราพิเศษ ปีที่ 1 - 3 ระบบ FiT อัตรา 9.75 บาทต่อหน่วย ส่วน ปีที่ 4 - 10 ระบบ FiT อัตรา 6.50 บาทต่อหน่วย และ ปีที่ 11 - 25 ระบบ FiT อัตรา 4.50 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหมาะสม มีระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับเพียงพอตามที่ 3 การไฟฟ้ากำหนด และจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ รวมทั้งโรงไฟฟ้าในโครงการ ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยตลอดอายุโครงการ 25 ปี และให้มีการรับประกันประสิทธิภาพแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตลอดอายุโครงการ

นั่นเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อรองรับ และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของโครงการได้ ซึ่งหากโครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตไฟฟ้าที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้