ญี่ปุ่นต้นประเทศต้นแบบใช้พลังงานประสิทธิภาพสูง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่มีแหล่งพลังงานไม่มากนัก จึงกลายเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี  น้ำมัน และถ่านหิน  ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ  มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น ในเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อน ระบบทำน้ำอุ่น โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในระบบผลิต ความร้อน และน้ำเย็น กว่า 150 แห่งทั่วประเทศ

ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ บริษัท ที่ดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ คือ The Shinjuku  Shintoshin  District Heating and Cooling Center   หรือ ที่รู้จักในนาม ศูนย์ผลิตไฟฟ้าระบบทำความร้อนและความเย็นด้วยก๊าซธรรมชาติ ของบริษัทเอ็นเนอร์จี แอดวานซ์ ในเครือของโตเกียวแก๊ส ที่เมืองชินจุกุ ประเทศญี่ปุ่น  

ศูนย์แห่งนี้มีขีดความสามารถ ในการผลิตความเย็น (Cooling  Capacity)ได้ประมาณ 59,000 ตันความเย็นผลิตความร้อนได้ประมาณ173,139 กิโลวัตต์   และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8.5 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงที่ส่งผ่านระบบท่อ ประมาณ 4ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  ซึ่งถือเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้อนให้กับลูกค้า ในอาคารสูง โรงแรม และห้างสรรพสินค้า กว่า 21 อาคาร ในย่านชินจูกุ

นายเคนทาโร่ โฮริซากะ  ผู้จัดการกลุ่ม การพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท เอ็นเนอยี แอดวานซ์  กล่าวว่า  บริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านเยน ในการลงทุนระบบผลิตความร้อน ความเย็นและกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้  10-20% รวมทั้งยังช่วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมาก  ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานของไทย ก็เล็งเห็นประโยชน์ของระบบดังกล่าว ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยหวังว่า จะนำมาเป็นต้นแบบในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนายชุมพล ฐิติยารักษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน  เพราะได้พึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในการนำมาผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนกว่า  70% ทำให้กระทรวงพลังงานต้องวางยุทธศาสตร์การกระจายแหล่งและชนิดเชื้อเพลิง เพื่อลดความเสี่ยง ด้านความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า

สำหรับการผลิตไฟฟ้าระบบทำความร้อนและความเย็นด้วยก๊าซธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นต้นแบบการใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ดี ในการนำความร้อนที่เหลือทิ้งในการเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติจากกระบวนการผลิตไฟฟ้ามาผลิตเป็นระบบทำความร้อนใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าหนาว และผลิตเป็นระบบทำความเย็นมาใช้ในช่วงหน้าร้อน ซึ่งถือเป็นการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนประเทศไทยได้นำระบบดังกล่าวมาใช้บ้างแล้ว เช่น ที่อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและสนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในกรุงเทพมหานครได้ โดยบริษัทเอ็นเนอร์จี แอดวานซ์ พร้อมเข้ามาลงทุนให้บริการในรูปแบบดังกล่าวด้วย ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะขยายไปใช้ในห้างสรรพสินค้า โรงแรมขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการใช้พลังงานค่อนข้างมาก หากมีการนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานได้เป็นจำนวนมาก

แต่การดำเนินการดังกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรม จะต้องมีการวางแผนและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในกระทรวงอื่นๆ   ให้สามารถทำงานอย่างบูรณาการ เพราะอุปสรรคสำคัญ คือเรื่องของ การวางท่อก๊าซไปเชื่อมตามจุดต่างๆ  ที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยหากเป็น เมืองใหม่ที่มีการวางผังเมืองรองรับเอาไว้  ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย แต่หากเป็นเมือง ที่มีการสร้างอาคารสูง  โรงแรม และ ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว   เช่นที่ถนนสีลม  หรือที่สยามเซ็นเตอร์  ก็อาจจะเป็นเรื่องยาก

ด้านนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการ City Gas  ซึ่งปตท.  มีแผนที่จะวางท่อก๊าซเข้ามาในเขตเมือง ชั้นใน เพื่อส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนเชื้อเพลิงเดิมเช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม เพื่อลดปัญหามลภาวะ ทางอากาศ ปัญหาการจราจร ซึ่งก็เป็น โอกาสในการทำเรื่องระบบผลิตความร้อน ความเย็นและกระแสไฟฟ้า ให้ขยายออกไปได้มากยิ่งขึ้น

โดยรัฐบาลจะเข้าไปดู เรื่องของอัตราค่าบริการ และคุณภาพ ของการให้บริการเหมือนที่ญี่ปุ่นที่ให้ ความสำคัญเกี่ยวกับการกำกับดูแล  เพื่อให้ผู้บริโภค เกิดความเชื่อมั่นว่า นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทางด้านพลังงานที่ลดลงจากเดิมแล้ว  ยังได้รับการบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน จากเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนให้บริการด้วย ซึ่งปัจจุบัน รัฐยัง ไม่ได้เข้ามากำกับดูแลในเรื่องนี้ เพราะระบบดังกล่าวยังมีการให้บริการเพียงแค่ 2 แห่งคือที่สนามบินสุวรรณภูมิ และ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เท่านั้น

ทั้งนี้ ในอนาคตของการนำระบบผลิต กระแสไฟฟ้า ความร้อน และน้ำเย็น  Cogeneration & District Cooling  System  น่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับแนวท่อส่งก๊าซของ ปตท. ที่จะเชื่อมไปยังสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร  เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ และใน 7 เขตของกรุงเทพมหานคร คือ  เขตราชเทวี, เขตพญาไท, เขตดุสิต,  เขตบางซื่อ,  เขตจตุจักร, เขตหลักสี่  และ เขตดอนเมือง   ซึ่งกำลังมีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเห็นโครงการดีๆ แบบนี้ เกิดขึ้นในบ้านเรา