โรงไฟฟ้าถ่านหินเยอรมนีต้นแบบโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดของไทย

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงเกือบ 70% หรือประมาณ 23,906 เมกะวัตต์ ของเชื้อเพลิงทั้งหมด แน่นอนว่าถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าของประเทศ ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะหาเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ มาทดแทน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงจากถ่านหินสะอาด  หรือพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ  แต่เชื้อเพลิงแต่ละประเภทก็มีทั้งข้อดี และข้อจำกัดด้วยกันทั้งสิ้นอย่างเช่น พลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ รวมทั้งพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว ประเทศไทยก็ใช้ในสัดส่วน 17% หรือประมาณ 5,864 เมกะวัตต์ ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องแลกมาซึ่งราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องสูงขึ้น  นี่ยังไม่รวมถึงการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าต่อไป เนื่องจากในอนาคตจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าขึ้นไปสูงถึง 6 บาทได้ในอนาคตจากปัจจุบันอัตราค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 บาทต่อหน่วย

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ดังนั้นทางเลือกที่เหมาะสม คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีทั้งถ่านหินนำเข้าและลิกไนต์ แต่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินกลับเฉลี่ยอยู่ที่ 2.80-3.10 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ขณะที่มลพิษต่างๆ  ก็ปรับลดลงหรือเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีให้เห็น โดยมวลสารที่ถูกปล่อยออกมานั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนด ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน  เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายประเทศมีการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมนี มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยไม่เป็นผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

ซึ่งล่าสุด กฟผ.ได้นำสื่อมวลชนศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สหพันธรัฐเยอรมนี เพื่อให้รับทราบถึงการวางแผนด้านพลังงานไฟฟ้าและแผนการกระจายกำลังการผลิต โดยเยอรมนี มีทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ และก๊าซ รวมถึงมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนด้วย โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 7 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 84,490 เมกะวัตต์ ขณะที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 175,022 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4.93 หมื่นเมกะวัตต์ นิวเคลียร์ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซฯ 2.8 หมื่นเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังลม 3.46 หมื่นเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3.74 หมื่น เมกะวัตต์ ไบโอแมส 7.53 พันเมกะวัตต์ และพลังน้ำ 5.60 พันเมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าแล้วพบว่าเยอรมนีมีสำรองไฟฟ้าเกิน 50%

จากการเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหิน Mainova HKV West ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต และโรงไฟฟ้าถ่านหิน Nied erausseem ที่มีกำลังการผลิตรวม 3,680 เมกะวัตต์ มีการใช้ถ่านหินปีละ 30 ล้านตัน โดยจุดเด่นของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเยอรมนี คือ สามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้มานานกว่า 12 ปีแล้ว โดยไม่มีการเรียกร้องหรือฟ้องร้องให้ปิดดำเนินการ โดยมีชุมชนอยู่ล้อมรอบกว่าหมื่นครัวเรือน เพราะโรงไฟฟ้าได้ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ที่มีการควบคุมมวลสารที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ในกรอบที่กำหนด มีหน่วยงานคอยควบคุมดูแ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ายังทำความเข้าใจกับชุมชน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเอกสารให้กับชุมชนในพื้นที่ ทำให้รู้ข้อมูลต่างๆ ของโรงไฟฟ้า รวมทั้งยังมีเงินสนับสนุนความช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน และดึงคนในพื้นที่เข้าร่วมงานในโรงไฟฟ้าด้วย ขณะที่ชุมชนได้ประโยชน์จากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่โรงไฟฟ้าจะต้องเสียให้กับรัฐในการพัฒนาประเทศและชุมชนด้วย

ซึ่งจะเปรียบเทียบได้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4-7 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าลิกไนต์ โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เยอรมนี แต่มีประสิทธิภาพดีกว่าเนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าใหม่กว่า คือมีการควบคุมมวลสาร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกำจัดซัลเฟอร์ เครื่องกำจัดไนโตรเจน และมีเครื่องดักจับฝุ่นละออง ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง ทำให้ค่ามวลสารที่ถูกปล่อยออกมาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และดีกว่ามาตรฐานที่กำหนด และเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนี้ก็จะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆอีก คือโรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา

ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Neuharden berg Solar Park ขนาดกำลังผลิต 145 เมกะวัตต์ ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นอีกหนึ่งโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีความน่าสนใจ เพราะใช้พื้นที่สนามบินเดิมในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม โดยได้รับอัตราค่าไฟฟ้าตามต้นทุนจริง (ฟีดอินทรารีฟ) ในอัตรา 7 บาท/หน่วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเยอรมนียังต้องให้การอุดหนุนในราคาที่สูงมาก ขณะเดียวกันก็จะพบว่า โรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ ยังมีข้อจำกัดในการทำงาน โดยจะทำงานเฉพาะในช่วงที่มีลมแรง และแสงแดดเท่านั้น  ทำให้พลังงานหมุนเวียนยังไม่ถือเป็นพลังงานหลักของประเทศ แม้จะมีการติดตั้งจำนวนมากก็ตาม  ทำให้เยอรมนียังต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ โดยมีปริมาณสำรองถ่านหินมากถึง 3.8 พันล้านตัน เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้นานถึง 500 ปี

และถึงแม้ว่าเยอรมนีจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่อัตราค่าไฟฟ้าของเยอรมนีกลับสูงกว่าประเทศไทยโดยอัตราค่าไฟเยอรมนีภาคครัวเรือนอยู่ที่ 13 บาท/หน่วยและขายไฟให้ภาคอุตสาหกรรมถูกกว่าอยู่ที่ 6.4 บาท/หน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 4 บาท/หน่วย ซึ่งเมื่อเทียบกับเยอรมนีแล้วถือว่าถูกกว่ามาก

สำหรับประเทศไทย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า ยังกังวลว่า ในอนาคตหากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ประเทศไทยอาจมีปัญหาเรื่องไฟตกไฟดับได้ใน 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากในอนาคตความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้โตสูงถึง 8-10% ต่อปี โดยจากข้อมูลคาดการณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าและความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนระยะ 20 ปี พบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2555 อยู่ที่ 26,348 เมกะวัตต์ หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มขึ้น แต่โรงไฟฟ้าเก่าจะหมดอายุลง กำลังการผลิตไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 17,245 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และจะปรับขึ้นไปสูงถึง 52,256 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองแล้วจะเพิ่มเป็น 70,686 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ พีดีพี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้า ตามแผนพีดีพีใหม่ จะพยายามลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติลงให้เหลือ 50% และจะเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็น 30% จากแผนปัจจุบันที่มีสัดส่วน 18%

และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าของประเทศ กฟผ. ได้มีการวางแผนการลงทุนระยะ 10 ปี โดยกฟผ.จะพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และโรงไฟฟ้าใหม่ที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุลง รวมทั้งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 8,744 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ มีกำลังผลิตรวม 6,360 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน โรงที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางปะกง ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม 1,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน 1,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ โรงที่ 2 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา 2,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ ทดแทน 360 เมกะวัตต์

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระยะ 10 ปี จะมีกำลังการผลิตรวม 1,844 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังน้ำขนาดเล็กตามพื้นที่เขื่อนต่างๆ รวม 1,735.75 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 57.25 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลม 78 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานชีวมวลจากหญ้าเนเปียร์ 13 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานลม 2.5 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตน์รวม 6 เมกะวัตต์ โดยยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุน โดยจะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน 70% ที่เหลือเป็นส่วนทุนของ กฟผ.เอง

แต่ในกรณีสุดวิสัย ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้จริง คุณรัตนชัย กล่าวว่า มีทางออก 2 แนวทางคือ การซื้อไฟจากต่างประเทศ เช่น ลาว และพม่า อีกแนวทางคือการใช้ก๊าซให้มากขึ้น โดยมุ่งไปที่การพัฒนาก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ ที่จะทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อต้นทุนการใช้ก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ก็จะกระทบกับค่าไฟที่สูงขึ้นแน่นอน ซึ่งตอนนั้นประชาชนในประเทศก็ต้องยอมรับความจริงให้ได้