หนุนไอเดียใหม่ สานต่องานวิจัย สร้างธุรกิจใหม่ กฟผ.
หนุนไอเดียใหม่ สานต่องานวิจัย สร้างธุรกิจใหม่ กฟผ.
 
 
หนึ่งในสัญญาณที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลุกขึ้นมาขานรับนโยบาย “Energy 4.0” คือ การปรับวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า - Innovate Power Solutions For A Better Life” พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการเร่งสร้างนวัตกรรมโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ มุ่งพัฒนาสิ่งใหม่ทั้งด้านกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และการให้บริการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับ กฟผ. ทั้งในเชิงการดำเนินธุรกิจและการสร้างประโยชน์ต่อสังคม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจากนวัตกรรมอย่างพลิกผัน (Disruptive Innovation) ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ภารกิจในการพัฒนานวัตกรรม กฟผ. จึงหยุดรอไม่ได้เช่นกัน
 
ความสำเร็จทางนวัตกรรม
 
ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรม กฟผ. ที่ดำเนินการมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะความเข้มข้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “กฟผ. เราดำเนินการเรื่องนวัตกรรมมาตลอด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว เราได้ผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยใหม่ไปได้ถึง 54 โครงการ ซึ่งมากขึ้นเท่าตัวจากในปี 2559 ที่อนุมัติโครงการไป 25 โครงการ ปีนี้เราจึงตั้งเป้าผลักดันให้เกิดงานวิจัยใหม่ ๆ ขณะนี้ผ่านมาแล้วครึ่งทาง เราอนุมัติโครงการวิจัยไปแล้วทั้งสิ้น 15 โครงการ”
ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ กฟผ.
 
ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน กฟผ. มีผลงานที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จำนวนทั้งสิ้น 72 คำขอ แบ่งเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 13 คำขอ อนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 43 คำขอ ลิขสิทธิ์ 15 คำขอ และเครื่องหมายการค้า 1 คำขอ โดยได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 46 คำขอ ผลงานทั้งหลายเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรแล้ว ยังสร้างชื่อเสียงบนเวทีการประกวดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรายการ อาทิ ผลงานการแก้ปัญหา Power System Oscillation ในระบบไฟฟ้า โดยการหาค่า Optimal PSS Parameters ด้วยวิธี Frequency Injection ซึ่งเป็นผลงานจากฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า สายงานรองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ เป็นนวัตกรรมพัฒนาวิธีการหา Parameters ของอุปกรณ์ ช่วยลดการแกว่งของกำลังไฟฟ้า (Power System Stabilizer - PSS) ที่เหมาะสม โดยผลงานนี้นำมาใช้งานจริงในโรงไฟฟ้าจะนะ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าและลดค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้กว่า 50 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนเพียง 100,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังเดินสายรับรางวัลเหรียญทอง จากการเข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมในเวทีนานาชาติ “46th International Exhibition of Inventions of Geneva” และรางวัลพิเศษจากประเทศจีนในเวทีเดียวกันอีกด้วย โดยล่าสุดผลงานนี้ได้รับการจดลิขสิทธิ์ในชื่อผลงาน “โปรแกรม EGAT Lead-Lag Analyzer” ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ทีมงานผู้คิดคิ้นนวัตกรรมของ กฟผ. ที่ได้รับรางวัลที่เจนิวา ปี 2561
 

รางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษจากประเทศจีน จากผลงานการแก้ปัญหา Power System Oscillation
 
สร้างทางด่วนสู่นวัตกรรมใหม่ กฟผ. : ปรับนโยบายพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัย
 
อย่างไรก็ตาม ดร.จิราพร มองว่าความสำเร็จของโครงการวิจัยนวัตกรรมที่ผ่านมายังสามารถต่อยอดให้เกิดเนื้องานใหม่ได้อีกมากมาย แต่สิ่งที่จะสนับสนุนให้ไอเดียเหล่านี้กลายมาเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว คือ การลดขั้นตอนและลดระยะเวลาในกระบวนการการพิจารณาอนุมัติโครงการ “ภายใต้กรอบงานวิจัยที่เราสนับสนุนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเรื่องของการทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การพัฒนาพลังงานใหม่เพื่อการผลิตไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม มวลชน รวมถึงกิจกรรม CSR เรายังคงกรอบเหล่านี้ไว้เช่นเดิม ในทางกลับกันยังขยายให้กรอบงานวิจัยกว้างขึ้นด้วย เมื่อก่อนอาจติดขัดกันที่เรื่องอนุมัติโครงการล่าช้า เราก็แก้ปัญหานี้แล้ว โดยล่าสุด ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายงานวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของ กฟผ. โดยมีผู้ว่าการ กฟผ. ในขณะนั้น คือ คุณกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ นั่งเป็นประธานเอง เราได้ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัยให้รวดเร็วขึ้น โดยได้กำหนดกรอบการอนุมัติงบประมาณใหม่ให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น”
 

ทิศทางงานวิจัย กฟผ. : มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน
 
การพัฒนานวัตกรรมที่ กฟผ. ดำเนินการนั้น มีกรอบทิศทางการมุ่งไปข้างหน้าอย่างชัดเจน โดยกำหนดสัดส่วนเงินทุนเพื่อให้นักวิจัยนำไปพัฒนาผลงานของตนเองแตกต่างกันตามทิศทางแต่ละด้านที่ กฟผ.สนับสนุน ในประเด็นนี้ ดร.จิราพร ไขความกระจ่างให้เราฟังว่า คณะกรรมการนโยบายงานวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ได้กำหนดทิศทางและสัดส่วนการให้ทุนวิจัยแบบใหม่ไว้ 5 ด้าน ไว้ดังนี้
 
1. ด้านนวัตกรรมในระบบไฟฟ้าของประเทศ สัดส่วนร้อยละ 40 เราให้ความสำคัญกับด้านนี้มากเพราะเป็นด้านที่สอดรับกับภารกิจหลัก กฟผ. ทั้งเรื่องภาพรวมระบบไฟฟ้า ระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย
 
2. ด้านการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กฟผ. สัดส่วนร้อยละ 25 มุ่งเน้นเรื่อง Operation and Maintenance (O&M) และงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและ Productivity ของโรงไฟฟ้า
 
3. ด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สัดส่วนร้อยละ 15 มุ่งพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาผลกระทบที่เกิดจากมลสารต่าง ๆ
 
4. ด้านการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับชุมชน สัดส่วนร้อยละ 10 มุ่งเพิ่มรายได้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและระบบส่ง พัฒนาคุณภาพการศึกษาพร้อมทั้งปรับปรุงภาพลักษณ์องค์กร ลดมลพิษที่ส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้า
 
5. ด้านการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ สัดส่วนร้อยละ 10 มุ่งพัฒนางานวิจัยที่สามารถต่อยอดได้ในเชิงธุรกิจ (Innovation to New Business) โดยสร้างแบบจำลองธุรกิจใหม่ (Start Up)
 
Super Cool Idea 2018 : กระตุ้นความคิดนอกกรอบ มุ่งสู่ธุรกิจใหม่ของ กฟผ.
 

 
นอกเหนือจากการเปิดรับให้ทั้งคน กฟผ. และหน่วยงานภายนอกได้เข้ามาเสนอผลงานเพื่อขอรับทุนวิจัยตามระเบียบปกติแล้ว ยังมีไม้เด็ดในการเฟ้นหาไอเดียใหม่ภายใน กฟผ. จากเวที Super Cool Idea Contest 2018 สังเวียนประลองความคิดที่ต่อยอดให้เกิด Startup นำไปสู่ธุรกิจใหม่ให้ กฟผ. ได้
 
“ปีนี้เป็นครั้งแรกเลยที่เราจัดงาน Super Cool Idea ขึ้นมา มีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อปลุกคน กฟผ. ให้ช่วยกันสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ให้หลุดออกจากกรอบเดิม โดยให้น้อง ๆ ได้ช่วยกันคิดไอเดียต่อยอดธุรกิจใหม่ ซึ่งมีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 172 ผลงาน โดยเราเชิญผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ.ทุกท่าน ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินในรอบแรก โดยคัดเลือกกันจนได้ 31 ทีมเจ้าของผลงาน และติดอาวุธทางความคิดให้พวกเขาจากกิจกรรมเวิร์คชอปในหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้ปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาผลงานนวัตกรรมทางความคิด (Super Cool Idea Contest) ให้เป็นธุรกิจใหม่ กฟผ. ได้รับเกียรติจาก ดร.รณกร ไวยวุฒิ ผู้มากประสบการณ์ด้านเตรียมทีม Startup จากศูนย์บ่มเพาะและเร่งรัดนวัตกรรม Siam Innovation District แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้น้อง ๆ ของเรามีความมั่นใจในการนำเสนอผลงานของตนเองให้สามารถก้าวไปสู่ Startup ได้อย่างถูกต้อง โดยทำเวิร์คชอปกัน 3 วัน ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการในวันประกวดจริง ซึ่งในวันนั้นเรายังได้รับเกียรติจากอาจารย์หลายสถาบันภายนอกมาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน ซึ่งผลงานของน้อง ๆได้รับเสียงตอบรับดี แม้น้องบางกลุ่มจะไม่ใช่วิศวกร แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมแชร์ไอเดียที่ส่งเสริมธุรกิจใหม่ให้ กฟผ. ในอนาคตได้ซึ่งทุกไอเดียบนเวทีนี้ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิด เราพยายามบอกกับเขาว่าให้กล้าคิดออกมาก่อน อย่าไปยึดติดกับกรอบและระเบียบต่าง ๆ ที่เคยครอบอยู่ แล้วค่อยมาดูว่าไอเดียนั้น จะกลั่นออกมาได้อย่างไรจะมุ่งไปสู่ธุรกิจใหม่ของ กฟผ. ได้ทางไหนบ้าง” ดร.จิราพร กล่าว
ปั้นไอเดียสู่ธุรกิจใหม่
 
ทันทีที่งาน Super Cool Idea สิ้นสุดลง มีเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วนเข้ามาโดย ดร.จิราพร เปิดเผยว่า “ผู้บริหารมีฟีดแบคกลับมากันมากเลยว่าเราจะต่อยอดไอเดียดี ๆ เหล่านี้ให้ออกมาได้จริงเป็นประโยชน์กับ กฟผ. ทำอย่างไรกันต่อ ซึ่งตรงนี้ได้หารือกันไว้แล้วว่า กฟผ. จะดูแลผลงานของน้อง ๆ ช่วยกันหยิบไปปั้นต่อ คัดกรอง เคี่ยวกันจนงวดเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ของเราให้ได้ ซึ่งเจ้าของไอเดียเองจะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนด้วย” ดร.จิราพร อธิบายถึงความร่วมมือเพื่อนำนวัตกรรมทางความคิดมาขยายผลต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ โดยมีแนวคิดนำผลงานที่ได้รับรางวัลดีเลิศทั้ง 2 ผลงาน ซึ่งเป็นไอเดียเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนไปรวมเข้ากับโครงการเชิงธุรกิจ เพื่อมองหาโอกาสในการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้ง 172 ไอเดีย จะทยอยพิจารณาหยิบมาปั้นแต่งให้เกิดเป็นธุรกิจทางเลือกใหม่ของ กฟผ. ให้มากที่สุด
หนุนสร้างงานวิจัยเป็นภูมิคุ้มกันให้ กฟผ.
 
ดร.จิราพร กล่าวถึงแนวทางที่เปิดกว้างให้คนที่มีไอเดียทั้งภายในและภายนอกเข้ามาเสนอผลงานได้ทั้งด้านการพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ หรือการสนับสนุนธุรกิจหลักของ กฟผ. ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ ดร.จิราพร ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเอาไว้ว่า “ตอนนี้ทุกคนต่างเข้าใจกันว่าเราต้องเน้นสร้างธุรกิจใหม่จากงานวิจัย แต่เราต้องไม่ลืมกันว่าธุรกิจใหม่นั้นทำรายได้ปีละ 3-4 พันล้านบาท ขณะที่ธุรกิจหลักของเราทั้งระบบผลิตและระบบส่งสร้างรายได้ให้เราปีละ 3-5 แสนล้านบาท ฉะนั้นเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจหลักเสริมความแข็งแกร่งให้ กฟผ. ด้วยงานวิจัยสร้าง Disruptive Technology ควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่ที่จะทิ้งไม่ได้เช่นกัน”
 
จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือในการสานต่องานนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้นั้น ต้องใช้ความคิดและความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงผู้บริหารที่คอยให้การสนับสนุนให้แนวคิดเกิดขึ้นจริงได้ ดังนั้น การที่จะลุกขึ้นมาคิดและทำอะไรที่นอกเหนือไปจากกรอบเดิม ๆ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสนใจเพื่อให้ กฟผ. ก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน