สำรวจปริมาณสำรองไฟฟ้า...รับมือเศรษฐกิจฟื้นตัว
ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ประกอบกับการเข้าช่วงฤดูร้อนจะทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภาครัฐมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร เราจะมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าจะมีไฟฟ้าพลังงานให้ประชาชนได้ใช้เพียงพอต่อความต้องการที่เกิดขึ้น......
พลังงานไฟฟ้าถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกสะบายในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน และช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเพราะเป็นพลังงานหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิต
โดยในปีนี้ที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากเดือนมกราคมตัวเลขการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 21% และในเดือนกุมภาพันธ์ก็ขยายตัวถึง 13.64 % ทำให้คาดว่าปีนี้อัตราการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะเติบโต 4.5%
และในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ถือว่ามีอากาศร้อนมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค ทำสถิติใหม่ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ระดับ 23,304 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่ผ่านมา 5.7 % ส่งผลให้กฟผ. ต้องปรับตัวเลขพีคใหม่อีกครั้ง โดยปรับเพิ่มเป็น 23,600 เมกะวัตต์ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 23,000 เมกะวัตต์
ดังนั้น กฟผ.จะเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลความมั่นคงในระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะช่วงระหว่างที่ปตท.จะหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในพม่าปริมาณ 1,070 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง และเดินเครื่องน้ำมันดีเซลของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ไตรเอนเนอยี่ และราชบุรีพาวเวอร์เข้ามาทดแทน
นอกจากนี้ ยังมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ เจดีเอ B17 เข้ามาเพิ่มเติมอีก 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 อีก เมกะวัตต์ จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะมีปริมาณไฟฟ้าอย่างเพียงพอ ไม่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับอย่างแน่นอน
รวมทั้งในปีนี้ปัญหาภัยแล้งได้ลุกลามในหลายพื้นที่ของประเทศ หลังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทุกแห่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาณรวม 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 64 % โดยเฉพาะปริมาณน้ำในเขื่อน ทางภาคเหนือ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จะลดระดับลงเหลือ 40% ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง
เนื่องจากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้พื้นที่นอกเขตชลประทานที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยล่าสุด มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว 59 จังหวัด ซึ่งในส่วนของ กฟผ. จะให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านน้ำอุปโภค-บริโภค ด้วยการให้เขื่อนต่างๆ จัดน้ำช่วยประชาชน ครอบคลุมถึงหน่วยงานราชการ โรงเรียน ชุมชน และวัด
นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับกรมชลประทานวางแผนระบายน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานที่ประสบปัญหาภัยแล้ง คาดว่า จะสามารถจัดสรรน้ำ ให้กับพื้นที่ดังกล่าวอย่างเพียงพอ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะฤดูฝนปีนี้ อาจมีปริมาณน้ำฝนไม่มาก และอาจต้องเผชิญฤดูแล้งยาวนานกว่าปกติ
และถึงแม้ว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ แต่หน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคงด้านไฟฟ้า ผู้ดูแลการจัดหาและสำรองปริมาณไฟฟ้าของระบบทั้งหมดของประเทศ อย่างกฟผ. ก็ออกมายืนยันว่า แม้ปริมาณน้ำทั้งประเทศจะปรับตัวลดลง เหลือเพียงไม่ถึง 40 % ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
เนื่องจากมีการใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้าเพียง 5 % ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งก็จะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร หรือ เอฟที งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมอย่างแน่นอน ประกอบกับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้มีปริมาณไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างแน่นอน
แต่เพื่อความไม่ประมาทในการสำรองเชื้อเพลิงในไฟฟ้าให้กับประเทศ กระทรวงพลังงานได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2553 -2557 หรือ พีดีพี 2010 ใหม่ โดยทำการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ หรือ Load Forecast ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
และโดยได้มีการปรับลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติใน 20 ปีข้างหน้า เหลือ 40% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% พลังงานน้ำและซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 20% พลังงานทดแทน 5% นิวเคลียร์ 10% หรือไม่เกิน 5,000 เมกกะวัตต์ ที่เหลือเป็นถ่านหินและเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ เพื่อเป็นการกระจายการใช้เชื้อเพลิงให้มีความสมดุลเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อเดินเครื่องในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค เท่านั้น เนื่องจากมีราคาต้นทุนการก่อสร้างกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าราคาค่าไฟฟ้าจะสูงกว่าราคาค่าไฟฟ้าปกติประมาณ 2 – 3 เท่าตัว โดยจะมีการก่อสร้างประมาณ 4 โรง โรงละ 250 เมกกะวัตต์ ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นตรงไฟฟ้าสำรองสำหรับเดินเครื่อง ในช่วงที่เกิดพีค
ส่วนสำรองปริมาณไฟฟ้าในระบบทั้งแผนจะอยู่ประมาณ 15% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่ปลอดภัยและมีความมั่นคง ป้องกันปัญหาไฟตก ไฟดับ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จัดทำแผน PDP สำรองเพิ่มอีกฉบับ กรณีไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ จำนวน 5 โรงกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า
ส่วนผู้นำด้านการจัดหาก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างบมจ.ปตท. ก็ออกมาเสนอแนะว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการหาทางเลือกของแหล่งเชื่อเพลิงใหม่ ๆ โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน หรือแม้กระทั่งพลังงานนิวเคลียร์ เพราะถือเป็นทางเลือกใหม่ เพราะก๊าซธรรมชาติแหล่งในประเทศมีขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้เพียงประมาณ 30 - 40 ปี ข้างหน้าเท่านั้น
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงมีมาตรการส่งเสริมให้มีภาคเอกชนของไปลงทุนการผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างสำรองให้กับประเทศในอนาคต
ถึงแม้ทุกฝ่ายต่างออกมายืนยันกันแล้วว่าในหน้าร้อนปีนี้จะมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอใช้อย่างแน่นอน แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ ก็น่าจะประหยัดการใช้ไฟฟ้าลง เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย....